วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

ห้วยดงวี่-ลำนำ้แม่กลอง สายน้ำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร......31 มีนาคม-6 เมษายน 2542


เรื่อง....ห้วยดงวี่-ลำนำ้แม่กลอง สายน้ำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

โดย....สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์

       เปิดบันทึกเรื่องราวการเดินทางสู่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และดินแดนสายน้ำที่เร้นลับ ยากเกินกว่าที่ใครจะเข้าไปถึงได้ง่ายๆ ที่ปลายทางห้วยดงวี่ .......31 มีนาคม-6 เมษายน 2542


แอ่งน้ำสีเขียว ชั้นล่างสุดของน้ำตกเซซาโว่



น้ำตกเซซาโว่ สามารถเล่นน้ำได้บริเวณชั้นบน
                   แทบไม่น่าเชื่อว่าสภาวะวิกฤติทางธรรมชาติจะมีความแปรปรวนอย่างหนัก ปีนี้ว่ากันว่าจะแล้วหนักถึงขึ้นจะเกิดไฟป่าขั้นรุนแรง ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง หากเกิดไฟป่ามาแล้ว อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ภาพของระบบนิเวศน์ที่เกิดจากไฟป่าย่อมเห็นได้ชัด ความหวังว่าเมื่อไฟป่าเกิดขึ้นแล้ว หญ้าระบัดจะผลิแตกมาใหม่เมื่อมีฝนตกมาครั้งแรก นั่นหมายความว่า หญ้าเหล่านี้เป็นอาหารโปรดของสัตว์ป่า ประเภทเก้งกวาง กระทิง รวมไปถึงสัตว์น้อยใหญ่อื่น ๆ ดังนั้นจึงวางแผนการสำรวจป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ด้านจังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้ง หลังจากห่างหายกันมาหลายปี ป่าทุ่งใหญ่ฯ เมื่อมีการประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน


นกตบยุง นอนเล่นขวางถนน

         เป็นอันว่าผมได้ติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการเดินทางในครั้งนี้ไว้ค่อนข้างเรียบร้อยแต่เนิ่น ๆ เพราะรู้ว่าการเดินทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้นค่อนข้างยาก ขออนุญาตก็ยาก
การสำรวจป่าทุ่งใหญ่ในช่วงปลายฤดูแล้งครั้งนี้ผมวางแผนไว้หลายวัน เลือกเส้นทางที่น่าสนใจที่ยังไม่มีใครเข้าไปถึง เสบียงอาหารก็ต้องเตรียมไปให้พร้อมด้วย เรื่องที่ผมวิตกมาก คือรถยนต์ที่เข้าทุ่งใหญ่ เจ้าคาริเบี้ยนที่ออกอาการไม่ค่อยดีมานานแล้ว ผมจึงต้องตรวจสอบเครื่องให้อยู่ในสภาพที่ไว้วางใจได้ อุปกรณ์การกู้รถเมื่อยามติดหล่มก็เอาไปด้วย ถ้าหากว่าเป็นหน้าแล้งที่ฝนตกมาไม่ชุกนัก เชื่อว่าน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

ต้นปรงกลางทุ่งหญ้าระบัด

การเดินทางสู่กาญจนบุรีในยามค่ำคืนค่อนข้างปลอดโปร่งเรื่องรถยนต์ จึงใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงเป้าหมายในตัวเมืองกาญจน์ จากนั้นก็หาซื้อเสบียงเพิ่มเติม เมื่อถึงทองผาภูมิก็เป็นเวลาค่ำคืน ง่วงนักก็จอดนอนสักงีบ ถือคติว่า ง่วง....ไม่ขับแต่ผมมีเป้าหมายว่าจะต้องไปถึงด่านทินวยในตอนเช้าตรู่

ด่านทินวย ประตูสู่ป่าทุ่งใหญ่

ลักษณะของป่าทุ่งใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้า
ประมาณ 7 โมงเช้า ที่ผมเดินทางมาถึงด่านทินวย เป็นด่านที่เราต้องทำเรื่องขออนุญาต กว่าจะแล้วเสร็จได้ก็ปาไปเกือบ 9 โมงเช้า สำหรับด่านทินวย ปัจจุบันได้ถูกปรับมาเป็นที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไปแล้ว ย้ายที่ทำการมาจากหน่วยฯ ซ่งไท้ ที่อยู่ลึกเข้าอีกไกล
คั่นเวลาช่วงนี้ไปก่อน มีนกให้ดูได้เยอะ อยู่แถว ๆ นี้เองแหละ

ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะสรรพเสียงที่เซ็งแซ่ของหมู่นกนานาชนิดส่งเสียงร้องอยู่ไม่ไกลจากด่านตรวจ บางครั้งจะเห็นนกแซงแซวหางปลา นกแซงแซวหางบ่วงโผบินไปมา ส่วนนกกางเขนดงนั่นเล่า ช่างเป็นนักร้องที่ให้เสียงได้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งกว่านกอื่น บางจังหวะจะมีนกขมิ้นหัวดำใหญ่โผบินมาใกล้ ๆ สีสันมันช่างเย้ายวนนัก เราพยายามจับจ้องดูว่ามันบินเข้ามาในระยะหวังผลของเลนส์เทเล 300 มม. ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าบางทีมีนกพญาไฟลงมาหากินใกล้ ๆ และยังมีชนิดอื่น ๆ อีกที่ป้วนเปี้ยนหากินในบริเวณหน่วย ฯ ทินวย



เมื่อผ่านการทำเอกสารแล้ว ผมก็ออกเดินทางเข้าสู่ความยิ่งใหญ่ของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตลอดทางเราพบว่าสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่สองข้างนั้น มีทั้งเก้ง ไก่ป่า ตะกวด และหมู่นกต่าง ๆ  ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราได้ตลอดทางเช่นกัน
สภาพถนนบางช่วง ในช่วงต้นฤดูฝน
ศาลฤาษี
มาถึงหน่วยฯทิคอง เป็นหน่วยที่เราต้องแวะเข้าไปเพื่อเยี่ยมเยือน ลุงสนม รักษ์สัตย์ธรรม (หลังจากเกษียณราชการได้กลับอยู่บ้าน และได้เสียชีวิตแล้ว) ผู้ช่ำชองป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมาตั้งแต่สมัยบุกเบิก ผมตั้งใจว่าในการเดินป่าครั้งนี้จะให้ลุงสนมนำทาง แต่ต้องผิดหวังเมื่อลุงต้องติดงานด่วน จึงต้องให้ลูกน้องคนอื่นไปแทน
แค้มป์ริมห้วยเซซาโว่
ลุงติดต่อคนนำทางไว้แล้ว ต้องแวะไปที่หน่วยฯ ซ่งไท้ มันสามารถไปยังปากห้วยดงวี่ได้
ผมวางแผนการสำรวจป่าทุ่งใหญ่ฯ โดยเลือกว่าคืนแรกคงเข้าไปยังตัวทุ่งใหญ่ที่เรียกว่า ทุ่งเวียจาทิโพ่ ถือว่าเป็นพื้นที่ใจกลางป่าทุ่งใหญ่ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ช่วงต้นฤดูฝนถือว่าเป็นช่วงที่หญ้าระบัดงามที่สุด โอกาสเหมาะสมอาจได้พบกับฝูงกระทิงที่ออกหากินตามทุ่งหญ้าเหล่านั้น

ทุ่งเวียจาทิโพ่” 


ความใฝ่ฝันของนักเดินทางที่เข้ามาทุ่งใหญ่นเรศวร หากได้เข้าไปยัง ทุ่งเวียจาทิโพ่หรือ ทุ่งกระเจียวแดงอันเป็นหัวใจสำคัญ ถือว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดที่สุด


ดอกกระเจียว

ลุงสนม ขันอาสาพาผมมายังหน่วยซ่งไท้ เพื่อเป็นธุระจัดหาเจ้าหน้าที่นำทางให้โดยมี ทองคำ ลูกจันทร์รับอาสานำทางไปยังตัวทุ่งใหญ่ และบริเวณเขาหัวโล้นปากห้วยดงวี่ ทั้งที่ว่าเคยผ่านเส้นทางสายนี้มานานแล้ว โอกาสที่จะจำเส้นทางได้แม่นยำนั้น ค่อนข้างยากสักหน่อย จะต้องตามเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่หูไปด้วยกัน







ค้นหาหัวใจป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เป็นเวลาเกือบบ่าย 3 โมง พวกเราพร้อมที่จะเดินทางเข้าสู่ตัวทุ่งใหญ่ ซึ่งต้องผจญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด หน้าแล้งอย่างนี้อุณหภูมิแห่งป่าทุ่งใหญ่ถือว่าร้อนจัดมาก ยิ่งมีอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนด้วย ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว ทุกคนจึงต้องเตรียมน้ำดื่มไปให้เพียงพอ
ทุ่งหญ้าบริเวณเขาไล่ชิกง
เดินสบาย ๆ เลยพี่ ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ก็ถึงตัวทุ่ง ตรงนั้นพอมีแหล่งน้ำตั้งแค้มป์ได้
ผมเองรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้างเมื่อทราบว่าระยะทางที่ใช้เดินทางไปยังตัวทุ่งนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แค่ช่วงแรกที่ต้องเดินเนินเขาลูกขนาดย่อมก็เล่นเอาเหนื่อยหอบเลย อุณหภูมิภายในและภายนอกร่างกายดูท่าว่าจะร้อนพอกัน ผมรั้งท้ายไปตลอดก็ด้วยเรี่ยวแรงที่หดหายไปเพราะความร้อน แม้ว่าบางช่วงจะเห็นทิวทัศน์เนินทุ่งหญ้าที่มีลักษณะเป็นเนินลูกฟูกของอาณาเขตทุ่งใหญ่ มีต้นปรงต้นเป้งขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วป่า ดอกกระโดนเบ่งบานเต็มต้น บ้างก็ร่วงทิ้งในราวทางพร้อมด้วยสรรพเสียงของหมู่นกนานาชนิด ที่เห็นอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นนกแซงแซวหางปลา บ้างก็พบนกหัวขวานหลายชนิดที่เราไม่มีเวลาไปแยกแยะชนิดของนกได้


ป่าทุ่งหญ้าช่วงต้นฝน



ยกเว้นรังนกขมิ้นหัวดำใหญ่ ทำรังอยู่ไม่สูงจากพื้นมากนัก ลูกนกวัยอ่อนชูหัวขึ้นมาพ้นปากรัง แสดงอาการรออาหารจากพ่อแม่นก หรือจะเป็นอาการอ้าปากเพื่อระบายความร้อนออกจากตัว เนื่องจากว่าในสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างนี้ลูกนกจึงต้องมีวิธีระบายความร้อนออกมา


นกขมิ้นหัวดำใหญ่


การเดินทางสู่ตัวทุ่งใหญ่ของเราไม่ค่อยเร่งรีบ ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปจนถึงช่วงเย็น จึงมาถึงเขาไล่ชิงกง เป็นเขาหินปูนที่อยู่ใจกลางตัวทุ่งใหญ่ มองไปข้างหน้าก็มองเห็นแนวทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ในสภาพช่วงปลายฤดูแล้ง ก็พอมีฝนหรือน้ำค้างลงมาบ้าง จึงทำให้มีหญ้าระบัดขึ้นมา พร้อมกับดอกกระเจียวที่แทงช่อดอกแซมอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ระบัดขึ้นมาไม่สูงมากนัก

ตะวันคล้อยที่เขาไล่ชิกง

ช่วงยามเย็นที่พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำลงไปทางด้านหลังเขาไล่ชิงกง ในทิศทางที่ย้อนแสงเราสามารถมองเห็นความงามของดอกหญ้าคาพลิ้วไสวเมื่อโดนลม เป็นจังหวะเดียวกับที่พระอาทิตย์กำลังแปรสีสัน เป็นสีทองทาทาบจับคลุมทั่วท้องทุ่ง ความงามเหล่านี้ ทำให้เราเดินทางได้ช้าลงเพราะมัวแต่หยุดถ่ายภาพ ปล่อยให้   ทองคำนำล่วงหน้าข้ามทุ่งหายไปนานแล้ว ทั้งนี้เราก็ได้มาถึงในบริเวณทุ่งเวียจาทิโพ่ แหล่งน้ำอาจอยู่ตรงเขาหินปูนลูกข้างหน้าก็เป็นได้ ระยะทางประมาณกิโลเมตรเศษ ๆ คิดว่าไม่หลงไปไหนแน่ อีกทั้งสภาพเส้นทางค่อนข้างชัดเจน ราวกับว่ามีผู้คนหรือสัตว์ป่าเดินกันเป็นประจำ


ทุ่งหญ้ากับแสงยามเย็น

พวกเราต่างชื่นชมธรรมชาติอันงามของทุ่งหญ้าที่กว้างไกลสุดสายตา พร้อมด้วยเนินเขาที่มีลักษณะเป็นเนินลูกฟูก มีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่ประปราย ผมพยายามมองหาพิกัดตำแหน่งยอดเนินเขาสูง ๆ ไว้ เพื่อเป็นทำเลในการถ่ายภาพที่สามารถมองเห็นมุมกว้าง ๆ ได้

เรื่องราวของนักเดินทางสู่หัวใจป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


พี่ เขาไม่ให้นอนล่ะ มีกะเหรี่ยงมาปลูกเพิงจำศีลอยู่ที่แหล่งน้ำ จะทำอย่างไรดีล่ะ
เป็นเวลาค่อนข้างมืดแล้ว ผมพบว่า ในบริเวณแหล่งน้ำมีการปลูกเพิงอยู่ เลี้ยวมาทางเชิงเขา ก็ยิ่งพบเพิงพักของกะเหรี่ยงปลูกอีกหลายหลัง ที่เชิงเขาก็มีผู้หญิงเด็ก ๆ อีกจำนวนหนึ่งมีกองฟืนที่เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก สามารถใช้ได้หลายวัน สอบถามจนได้ความที่ชัด ๆ ว่าพวกเขาเข้ามาจำศีลสวดมนต์ไหว้พระ โดยมีฤาษีปลูกเพิงอยู่บนเนินด้านหลังแหล่งน้ำ มีลักษณะคล้ายกับสำนักฤาษีเหมือนกับกลุ่มฤาษีบ้านเลตองคุที่อุ้มผาง หรือฤาษีบ้านทิบาเก

พวกเรานับถือฤาษี เป็นกลุ่มฤาษีด้ายขาว เข้ามาสวดมนต์เพื่อรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ จะอยู่นานแค่ไหนก็ยังไม่รู้เลย
 เมื่อสภาพป่าใจกลางทุ่งใหญ่ที่มีชาวบ้านเข้าปักหลักกันอยู่กันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่สัตว์ป่าต้องใช้เป็นประจำ น่าเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ที่เข้ามาใช้แหล่งน้ำที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในบริเวณทุ่งแห่งนี้
         กะเหรี่ยงบอกพวกเราว่า ถ้าจะนอนที่ตรงนี้ ต้องห้ามนำอาหารที่เป็นจำพวกเนื้อสัตว์มากินที่ตรงนี้ เพราะพวกเขาถือว่าเป็นเขตรักษาศีล ห้ามทานเนื้อ ไข่ ทุกชนิด ด้วยความปรารถนาดีของพวกเขาก็อุตส่าห์ไปหาน้ำพริก งาคั่ว และกระเจียวลวกจิ้มน้ำพริกมาให้พวกเรา ในที่สุดพวกเราก็ตัดสินใจว่าให้หุงข้าวให้เสร็จ และบรรจุน้ำให้เต็ม ย้ายไปพักที่เชิงเขาไล่ชิงกง เพื่อไม่เป็นการรบกวนชาวบ้านที่มาบำเพ็ญศีล ไว้วันรุ่งขึ้นค่อยเดินมาดูให้เห็นรายละเอียดกันชัดอีกที

สะดือทุ่งใหญ่
          
ส่วนเรื่องจะได้เห็นสัตว์ป่านั้นคงเจอยาก ส่วนทางเชิงเขาไล่ชิงกงมีเพิงถ้ำพออาศัยนอนได้ ยามค่ำคืนดึกดื่นก็พอมีสรรพเสียงสัตว์ป่ามาร้องอยู่ใกล้ที่พัก เป็นจำพวกเก้ง และนกตบยุง จนกระทั่งเช้าก็พากันออกไปยังแหล่งน้ำตรงบริเวณกลุ่มฤาษีที่มาปักหลักอยู่ในกลางทุ่ง มีเนินเขาน้อยใหญ่ที่เรียงสลับเป็นลูกฟูกแลเห็นได้กว้างไกล สภาพป่าเบญจพรรณที่แซมแทรกอยู่กลางทุ่งมีจำพวกต้นกระโดน ต้นส้าน บางต้นทิ้งใบเหลือแต่กิ่งก้านเปล่า ตามคาคบไม้ก็พบเอื้องผึ้ง ผลิดอกสีสดสวย ผืนป่าทุ่งใหญ่ในยามนี้แม้ว่าจะแห้งไปสักนิด แต่ก็ยังพบกับความสดในของธรรมชาติอยู่บ้าง ซึ่งเป็นความงามของธรรมชาติในหน้าแล้ง

ดอกกระโดน



ฝ่าเปลวร้อนสู่สายน้ำกลางป่าลึก

กลับออกจากตัวทุ่งเวียจาทิโพ่ ก็ได้ปรับโปรแกรมอีกครั้ง คือต้องไปตามเจ้าหน้าที่นำทางอีกคนหนึ่งอยู่ที่หน่วยฯ จะแก รับปากมั่นเหมาะว่าจะมาเจอกันที่ห้วยดงวี่ในวันรุ่งขึ้น จนในที่สุดเราตัดสินใจว่า 8 โมงเช้าแล้ว ยังไม่มาตามนัด ทำให้ทองคำตัดสินใจพาพวกเราไปยังปากห้วยดงวี่ด้วยตัวเขาเอง ทั้งที่ว่าเขาเองก็ไม่มั่นใจนัก ก็ทำให้เราไม่ค่อยมั่นใจตามไปด้วย
จุดเริ่มเดินเท้าไปยังปากห้วยดงวี่นั้น ต้องย้อนกลับไปยังหน่วยซ่งไท้ ทางเข้าอยู่ก่อนถึงหน่วยประมาณ 3 กม. ทองคำบอกว่าต้องเอารถไปจอดที่หน่วยฯ และผมต้องเดินย้อนกลับมาอีก วิธีการอย่างนี้ก็ดูไม่เข้าท่านัก ถ้าเอารถจอดทิ้งริมทางไว้เลย แม้ว่าจะเสี่ยงสักนิด แต่ไม่ต้องเดินให้เหนื่อยทั้งไปกลับ ผมจึงตัดสินใจจอดรถทิ้งไว้ริมถนนติดกับห้วยซงซ่ง ซึ่งเป็นห้วยแห้งที่อยู่ชิดกับถนน ถ้าเป็นหน้าฝนถนนกับหัวยซงซ่ง จะเป็นห้วยมีน้ำที่ต้องขับรถลุยไปอย่างยากลำบาก
ช่วงเวลาเช้า สภาพอากาศทั่วไปยังไม่ร้อนมากนัก ป่าพื้นล่างโล่งเตียนเพราะถูกไฟป่าเผาผลาญไปหลายวันแล้ว จึงมองเห็นร่องรอยทางด่านสัตว์ได้ชัดเจน ดูแล้วไม่แตกต่างกับทางเดินของคนที่ย่ำกันโล่งเตียน ทองคำพาพวกเราลดเลี้ยวไปตามเชิงเขา บ้างก็ต้องลัดเลาะไหล่เขาขึ้นสู่ระดับสูง เหงื่อเม็ดโป้งๆ เริ่มผุดจากใบหน้า ผมเองก็ช้ารั้งท้ายอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ปล่อยให้ข้างหน้าล่วงหน้าไปก่อน ห่างกันพอระยะมองเห็น


เขาหัวโล้น ก่อนตัดลงปากห้วยดงวี่ที่ลำนำ้แม่กลอง


ฝ่ายทองคำเองดูเหมือนว่ากำลังคลำเส้นทางเพื่อค้นหาแนวเทือกเขาลูกแรกที่เราต้องผ่านข้ามไป จนในที่สุดเราก็วกกลับมายังช่องแคบ ผ่านดงมะค่าและพบร่องรอยของกระทิงใหม่ ๆ อยู่ไม่น้อย ก็แสดงว่าช่องทางนี้เป็นทางด่านสัตว์ที่สัญจรผ่านอยู่เป็นประจำ
ออกจากนี้จะตัดเข้าแนวร่องห้วยแห้งแล้ว จะผ่านป่าต้นแป้งต้นปรง และจะทะลุออกเขาหัวโล้นที่มองเห็นลำห้วยแม่กลองได้ชัดเจนเลย
หากว่าเป็นไปตามที่คิดไว้ ก็น่าสบายใจได้เลย อากาศร้อน ๆ อย่างนี้อยากไปนอนแช่น้ำให้ชุ่มฉ่ำชื่นใจแถวปากห้วยดงวี่ แต่โอกาสที่จะคิดอย่างนั้นท่าจะหมดหวังไปเสียแล้ว เพราะทองคำวนหาทางอยู่เป็นนานก็ยังไม่เจอ จนกระทั่งเกือบเที่ยงจึงได้หยุดพักทานข้าวก่อน แล้วค่อยหาทางกันใหม่
ไม่เป็นขวา ก็น่าจะเป็นซ้าย ข้างหน้าจะเป็นเขาลูกหนึ่ง เราต้องหาให้เจอ

กระทิงป่าบนยอดเขาสูง

ทองคำ พยายามทบทวนสภาพป่า และแนวพิกัดของเทือกเขา หลังจากทานอาหารเที่ยงแล้วเสร็จ ทองคำก็ล่วงหน้าไปก่อน ไปได้ไม่ไกลก็ร้องเรียกพวกเราให้ไปดูกระทิง คาดว่าคงจะเจอกันในระยะไม่ไกลนัก
โน่นไงล่ะ สีดำ ๆ หลังกอๆ ไผ่นั่นแหละ อีกตัวหนึ่งวิ่งหนีไปแล้ว
ผมพยายามสอดสายตามองไปยังจุดดำข้างหน้า ยกกล้องจะถ่ายภาพอยู่แล้ว แต่ยังกดชัตเตอร์ไม่ได้เพราะยังมีแนวกอไผ่บังส่วนลำตัวด้านบน มองเห็นเฉพาะขาเท่านั้น ผมรอโอกาสเหมาะๆ แต่กระทิงขยับหนีจนลับสายตา จนได้ยินเสียงกระโจนโครม ๆ ลับหายไป
สภาพป่าเบญจพรรณมีป่าไผ่ แซมสลับอยู่ด้วยจึงเหมาะสำหรับสัตว์ป่าเข้ามาหลบหากินในที่ร่ม สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ร่างกายเราต้องสูญเสียน้ำไปมาก น้ำที่เตรียมมาคงไม่เพียงพอ สภาพป่าที่เราหลงกันอยู่นี้ดูแล้วว่าไม่มีน้ำแน่นอน ทางฝ่ายทองคำพยายามหาทางสู่พิกัดเป้าหมายอย่างรอบคอบ ในเมื่อตัดไปทางขวาแล้วเจอหนทางตัน เราก็ต้องออกไปทางซ้าย เดินตามสันเขาไปเรื่อย ๆ คาดว่าเราต้องไปเจอเส้นทางที่เชื่อมมาจากสายหลักได้แน่นอน แต่จะไกลแค่ไหนก็ยังไม่รู้
ฝ่าเปลวร้อนที่ยอดเขาหัวโล้น
ออกเดินไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งผ่านมายังสันเขาที่มีมุมมอง เห็นทำเลโล่ง ๆ ด้านขวามือ น่าจะเป็นตำแหน่งของเขาโล้น ที่เราวาดหวังให้เป็นอย่างนั้น ทางฝ่ายทองคำก็รีบรุดเดินไปยังจุดหมายดังกล่าว และก็ประสบผลสำเร็จเมื่อพวกเราคลำหาเส้นทางจนเจอ
ลักษณะทำเลของเขาหัวโล้นที่มองเห็นทิวทัศน์เทือกกว้างใหญ่สลับซับซ้อน และยิ่งใหญ่ตระการตา เพราะตรงเบื้องหน้า จะมองเห็นเขาหัวโล้นเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวมีต้นปรงต้นแป้งแซมอยู่ด้วย ลึกลงไปเป็นโตรกหุบผาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นร่องหุบแม่น้ำแม่กลอง หรือแควใหญ่ ในตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับปากห้วยดงวี่
ข้างหน้านี้เป็นร่องแควใหญ่ ปากห้วยดงวี่อยู่ตรงดงไม้เขียวๆ  โน่นเลย เราลงตรง ๆ ไปนี้ไม่ได้เลยมันจะติดหน้าผา ผ่านไปไม่ได้
ทุ่งหญ้าตรงเขาหัวโล้น เป็นทุ่งหญ้าตามไหล่เขา สุดแนวทุ่งหญ้าก็เป็นสภาพป่าทึบ ตอนขาลงเขาหัวโล้นต้องใส่เบรคยั้งตัวเองไว้ เพราจะถลาเสียหลักล้มเจ็บตัวกันเปล่า เราควรเซฟตัวเองไว้เป็นอย่างดี เพราะต้องเดินป่ากันอีกหลายวัน หากเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้โปรแกรมต้องเปลี่ยนแปลงไปใช่เหตุ


ต้นปรง

         ดูเหมือนว่าสภาพอากาศจะร้อนจัดยิ่งขึ้น น้ำที่เตรียมต้องดื่มกันแบบประหยัด ยิ่งเราเดินมากเท่าไร อุณหภูมิในร่างก็ยิ่งสูงมากขึ้น เป็นลักษณะอาการเดียวกับเครื่องยนต์ร้อน และยิ่งเส้นทางเดินลงเขาแล้วต้องไปมุดท่ามกลางป่าไผ่ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น

ปากห้วยดงวี่ แม่กลองกับผืนทรายที่ไร้รอยเท้ามนุษย์
เส้นทางลงเขาไปสู่ปากห้วยดงวี่นั้นไม่ใช่หมู ๆ เลย เราต้องเดินเลาะไปตามไหล่เขา เป็นทางที่ยากมากๆ  บ้างก็อาศัยด่านช้างเก่า ก็พอเดินได้เร็วขึ้นหน่อย ประกอบกับอากาศร้อนมาก ๆ คอแห้งผาก น้ำดื่มก็เหลือติดก้นขวด ถ้าหากเราทนได้ก็ทนเอา เหลือน้ำติดก้นขวดไว้หน่อยหนึ่งเผื่อยามฉุกเฉินขึ้นมา
ตั้งแต่เดินป่ามาเป็นสิบปียังไม่เคยเจออากาศร้อนเท่าครั้งนี้เลย บอกได้ว่า สุดโหด ร่างกายใครไม่พร้อมอาจถูกน็อคด้วยความร้อนในอุณหภูมิที่บ้าระห่ำอย่างนี้ได้
ปรง7 ยอด  ตอนนั้นเห็นอยู่แค่ 6 ยอด
ตอนแรกคาดว่าคงใช้เวลาเดินลงไปปากห้วยประมาณ ชั่วโมงเศษ ๆ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ประมาณ 4 ชั่วโมงที่เราใช้ไป อากาศร้อนจัดจึงต้องทำให้หยุดพักกันบ่อย ๆ ทางรกเรื้อในดงป่าไผ่ก็ยิ่งช้าไปอีก ในที่สุดเหมือนสวรรค์ทรงโปรดที่เราพาสังขารที่บอบช้ำไปลำน้ำ แค่หยุดพักให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงแล้วก็เติมน้ำให้กับร่างกายที่ขาดน้ำ  ให้คุ้มค่าที่เราได้หิวกระหายมาตลอดทาง

ปากห้วยดงวี่ที่ไหลบรรจบลำนำ้แม่กลอง

ท่ามกลางสายลมพัดกระโชกผ่านโตรกหุบแม่น้ำ ผืนน้ำสีเขียวมรกตเป็นลายริ้วเมื่อโดยลมพัดผ่าน บรรยากาศป่าตามลุ่มแม่น้ำเงียบสงัดด้วยธรรมชาติที่แท้จริง ดินแดนปราศจากผู้คนที่จะเข้ามาถึง ความสมบูรณ์ของลำน้ำมีให้เห็นอยู่มากมาย เมื่อเดินขึ้นเหนือไปไม่กี่ร้อยเมตรก็พบหาดทรายกว้างพอตั้งเต็นท์ได้เป็นสิบหลัง
หาดทรายนี้เป็นบริเวณปากห้วยดงวี่ ห้วยเล็ก ๆ ตรงนั้นเป็นห้วยดงวี่ไหลบรรจบกับแควใหญ่

             ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึงเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ ได้มาเห็นสภาพธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ไว้วันรุ่งขึ้นจะหาทางไปสำรวจตามแม่น้ำ อาจได้พบเห็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย อย่างน้อย ๆ อาจได้เห็นโขดแก่งกลางแม่น้ำ หรือบางแห่งมีสภาพคล้ายกับน้ำที่ขวางอยู่กลางลำน้ำ

แค้มป์บริเวณปากห้วยดงวี่

โมงยามเย็นที่เราเวลาไปแบบสบาย ๆ ไม่ไปเร่งรีบกับสิ่งใดทั้งสิ้น เพื่อนร่วมทางต่างถือโอกาสพักผ่อนหลังจากที่อ่อนล้ากับการเดินทางฝ่าอุณหภูมิอันแสนร้อนจัดมาทั้งวัน ก็ยังคิดอยู่ว่าในวันกลับนั้น เราจะเลือกย้อนกลับทางเก่า หรือจะเลือกเส้นทางใหม่โดยเลาะทวนลำน้ำห้วยดงวี่ขึ้นไป ซึ่งใช้เวลาไม่น้อย เพราะทองคำบอกว่าเส้นทางทวนสายน้ำห้วยดงวี่ไปจนถึงถนนนั้น ต้องใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ เท่าที่ดูสภาพภูมิประเทศของลำห้วยแล้วคาดว่าบางช่วงต้องเดินปีนป่ายตามโขดหิน อาจทำให้การเดินทางมากกว่าหนึ่งวันก็ได้ และถ้าเราเดินออกที่ห้วยดงวี่ ก็ต้องเดินย้อนกลับไปเอารถที่จอดทิ้งไว้อีกไกล จึงตัดสินใจกันเบื้องต้นว่าต้องย้อนกลับทางเก่าจะง่ายกว่า เพียงแต่ว่าเราต้องวางแผนการเดินทางให้รัดกุมมากขึ้น เตรียมน้ำไปให้เพียงพอ หรือออกเดินเช้า ๆ หน่อย อากาศจะได้ไม่ร้อนจนเกินไป


ห้วยดงวี่ ในบริเวณช่วงถนนที่ผ่านใจกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

สายน้ำแม่กลองในบริเวณปากห้วยดงวี่เป็นลำน้ำไหลนิ่งเป็นสีเขียว ถูกโอบล้อมด้วยแนวโตรกผาสูงชัน ยังดีว่าในบริเวณปากห้วยดงวี่นั้นโตรกผายังไม่สูงมากนัก หากว่าเดินขึ้นไป หรือย้อนลงตามลำแม่กลองก็ยิ่งเจอกับปราการผาสูงชันที่ขนาบลำน้ำทั้งสองด้านไว้ การที่จะเดินเลาะตามลำแม่กลองไปได้ตลอดลำน้ำนั้นคงยาก ตอนแรกว่าจะลงไปสำรวจแก่งทางตอนล่างที่มีระบุไว้ในแผนที่ 1:50,000 ได้ระบุสภาพภูมิประเทศไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าโขดแก่งที่ขวางกั้นลำน้ำนั้นมีอยู่มากมาย
ปากห้วยดงวี่
วิถีแห่งสายน้ำแม่กลองท่ามกลางป่าบริสุทธิ์ที่ไร้ร่องเท้าคน ความเงียบสงบจึงได้พบเห็นปลาขนาดใหญ่ที่ลอยตัวขึ้นผิวน้ำ และใช่ว่าจะจับขึ้นมาได้ง่ายๆ แม้ว่าจะใช้เบ็ดกับเอ็นเส้นใหญ่ ก็สะบั้นทุกครั้งที่ปลาลากเหยื่อมุดเข้าใต้หิน จนเราต้องยอมแพ้ อดได้เห็นขนาดความใหญ่ของปลาในลำน้ำแห่งนี้

หม้อสนามกับกฎป่าที่อาจเกิดขึ้นได้

วันรุ่งขึ้นที่เราใช้เวลาอยู่กับสายน้ำแม่กลอง โขดแก่งที่ปากลำห้วยดงวี่ไหลเซาะอยู่มิขาด ท่ามกลางแสงแดดจ้าหมู่ผีเสื้อพากันโบยบินมาดูดกินแร่ธาตุอาหารอยู่ตามพื้นทราย หลากหลายลีลาธรรมชาติที่เราผ่านพบในดินแดนบริสุทธ์เหนือโตรกผาสูงมองเห็นนกกกโผบินข้ามไปหลายคู่ ครั้นถึงช่วงเย็นก็เจอกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ เมฆฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล แต่ก็มาไม่ถึงที่เราพัก คงมีแต่สายลมที่พัดกระโชกผ่านมาอย่างรุนแรง และทุกอย่างก็สงบเงียบไปในที่สุด
ในวันเดินทางกลับ เราเตรียมน้ำดื่มมากขึ้น หม้อสนามถูกนำมาใส่น้ำ โดยเอาน้ำใส่ถุงพลาสติกมัดหนังยางให้แน่นแล้วนำไปใส่ในหม้อสนาม ก็สามารถพกพาเดินทางไปได้ แค่ระยะทางจากปากห้วยขึ้นมาถึงเขาหัวโล้นก็หมดน้ำไปสองหม้อสนาม ใช้เวลาเดินทางถึง 5 ชั่วโมงเต็ม จากนั้นทองคำก็พาเราลัดเลาะป่าเดินกลับไปหารถในเส้นทางที่ใช้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง มีความรู้สึกว่ามันเร็วกว่าตอนที่ขึ้นมาเสียอีก


พี่เสือ คนนำทาง
ธรรมชาติที่เป็นอย่างธรรมชาติจริง ๆ ที่เราไม่อาจกำหนดขึ้นมาได้ และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าถัดจากที่เราออกจากป่ามาถึงหน่วยซ่งไท้ ได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนกระทั่งมีน้ำป่าทะลักแตกมาจากห้วยซงซ่ง เรามองเห็นน้ำป่าพัดเอากอไผ่หายไปทั้งกอ มองเห็นแล้วน่าสะพรึงกลัวมาก หากเรายังอยู่ในป่าและประสบกับสภาพฝนอย่างนี้ แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ ๆ คือ รถเรารอดพ้นน้ำป่าไปหวุดหวิด เพราะตรงที่จอดรถไว้นั้นเป็นห้วยซงซ่งสายเดียวกับน้ำป่าที่แตกทะลักมาอย่างบ้าคลั่ง
“กฎของป่า บอกไว้ว่า ห้ามนำหม้อ หรือหม้อมาตักน้ำ เขาเชื่อว่าจะเกิดน้ำป่า”
ความเชื่อตามธรรมเนียมกฎการเที่ยวแบบนายพราน เขาบอกไว้ ซึ่งเราก็ได้เห็นน้ำป่าที่เกิดขึ้นด้วยตนเองว่านมันรุนแรงน่ากลัว มากๆ


         ห้วงวันเวลาของการเดินทางสู่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งที่เราได้สัมผัสกับเรื่องราวของธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูแล้ง เป็นช่วงรอยต่อฤดูกาลที่บอกว่า "ความร้อน" โหดมากๆ 



หมายเหตุ.....ขอระลึกขอบคุณถึง ลุงสนม รักษ์สัตย์ธรรม ตำนานแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร และหนึ่งในจำนวนที่ได้เห็นเหตุการณ์ของกลุ่มพรานบรรดาศักดิ์ ที่เข้าไปตั้งแค้มป์ล่าสัตว์ป่าที่ห้วยเซซาโว่ จนเกิดเหตุการณ์เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตก และเกิดปัญหาบ้านเมืองมาตามครั้งใหญ่หลวง และขอบคุณพี่เสือ ทองคำ ลูกจันทร์ มา ณ ที่นี้ด้วย





วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

มหัศจรรย์ป่าดิบชื้นที่ผืนป่าฮาลา



มหัศจรรย์ป่าดิบชื้นที่ผืนป่าฮาลา

เรื่อง-ภาพ.....สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์










            หากกล่าวถึงผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งทั้งป่าเหนือ ป่าอีสาน ป่าตะวันออก ป่าตะวันตก  หรือป่าทางภาคใต้ ก็ล้วนเป็นผืนอนุรักษ์ที่ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือบางแห่งก็เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ยังมีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลพิทักษ์ป่าไว้
ผืนป่าสยากลางป่าทึบ
            สำหรับผืนป่าเขียวขจีตลอดทั้งปี จะเป็นจำพวกป่าดิบชื้น หรือป่าฝนอย่างเช่น ผืนป่ายอดเขาหลวง นครศรีธรรมราช ที่รู้จักคุ้นเคยอย่างดี หรือจะเป็นผืนป่าดิบชื้นหรือป่าฝน ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาส เรียกชื่อกันว่า ป่าฮาลา-บาลา บางครั้งก็เรียกสลับเป็น ป่าบาลา-ฮาลา ก็งงๆ กันไป




เบื้องต้นเราต้องมาทำความรู้จักกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับป่าบาลา ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยป่าแห่งนี้อาจเรียกชื่อสลับกัน โดยผู้คนที่อยู่ในอำเภอแว้งจะเรียกว่า "บาลา-ฮาลา" แต่คนที่อาศัยในอำเภอเบตงจะเรียกว่า "ฮาลา-บาลา" เป็นการแยกแยะได้ค่อนข้างชัดเจน



ผืนป่าทั้งสองตั้งอยู่ในเทือกเขาสันกาลาคีรี มีลักษณะป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเมืองร้อนที่อุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความชื้นสูงตลอดทั้งปี มีลำน้ำไหลผ่าน ถือได้ว่าเป็นผืนป่าดิบชื้นที่กว้างขวางและใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรมลายู

ช่วงบริเวณน้ำเอ่อในเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง



ความโดดเด่นของผืนป่าฮาลา มีที่มาของชื่อนี้ คือ คลองฮาลา เป็นสายน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากผืนป่าดิบชื้น มีสายน้ำสาขาไหลมาจากยอดเขาฮาลา มีหมู่บ้านฮาลาที่ตั้งอยู่ต้นน้ำ ในส่วนที่เป็นที่ราบกลางป่าลึก มีพื้นที่เรือกสวน ไร่นาของชาวบ้านที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาได้มีการอพยพย้ายออกมาตั้งหมู่บ้านที่ กม. 32 กม. 38 บนช่วงถนนสายยะลา-เบตง




ความสำคัญของผืนป่าฮาลา มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เป็นแหล่งต้นแม่น้ำปัตตานีที่ไหลมาลงเขื่อนบางลาง มีอุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลางได้ดูแลพื้นที่ในบางส่วน และยังเป็นแหล่งสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่ท่ามกลางป่าบริสุทธิ์ สิ่งที่ร่ำลือว่าผืนป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนหายาก มีนกเงือกหลากชนิด ในบางช่วงฤดูกาลจะพบนกเงือกรวมฝูงเป็นหลายร้อยตัว หรือนับพันตัว สำหรับข้อมูลแบบนี้ค่อนข้างจะเชื่อยาก หากไม่มีภาพให้เห็น หรือไม่ได้เห็นด้วยสายตาตัวเอง


หลายครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าสู่ผืนป่าฮาลาตามเส้นทางเรือ ขึ้นไปยังต้นน้ำป่าฮาลา มีคลองฮาลาเป็นเส้นทางหลัก โดยมีฐานปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ 2 ฐาน มีฐานแรก คือ ฐานปฏิบัติการ ตชด.ที่ 445 ฐานนางนวล (ฐานล่าง) เรือขนาดใหญ่สามารถไปได้สะดวก ส่วนฐานที่สอง ต้องใช้เรือหางยาวขนาดเล็กๆ ทวนกระแสน้ำขึ้นไป  เนื่องน้ำในคลองตื้นมาก สายน้ำใสมองเห็นพื้นทรายได้ชัดเจนสำหรับการเดินทางขึ้นไปยังผืนป่าฮาลานั้น ยังเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างลำบาก จึงไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ธรรมชาติจึงคัดกรองคนที่รักธรรมชาติ นักเที่ยวป่า ท่องเที่ยวไพร หรือศึกษาธรรมชาติ สัมผัสกลิ่นไอป่าเขา และสรรพเสียงของสัตว์ป่าในไพรลึก
การเดินทางสู่ต้นน้ำป่าฮาลา ต้องฝ่าโขดแก่งแบบเช่นนี้
สภาพป่าฮาลาที่มีสายคลองขนาดใหญ่ สายน้ำใส มองเห็นผืนทราย มีตอไม้ที่โดนน้ำท่วมยืนต้น เหนือขึ้นไปยังเนินเขาก็เป็นป่าทึบ ยังได้พบกับต้นย่านดาโอ๊ะ หรือ ใบไม้สีทองที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วป่าทึบ ตลอดเส้นทางเดินเท้าจะเป็นทุ่งหญ้าที่ปรากฏรอยเท้ากระทิงย่ำไปทั่ว แสดงว่าเป็นกระทิงฝูงที่หากินในบริเวณริมคลองตลอดทั้งสาย เนื่องจากเป็นทุ่งหญ้าระบัดขึ้นมาในหลังน้ำลด จึงทำให้เป็นแหล่งอาหารของกระทิงป่าที่เรามีโอกาสพบเห็นได้ในช่วงเย็นตรู่  ช่วงเย็นย่ำใกล้มืด สำหรับจุดพบเจอกระทิงอยู่บ่อย ได้แก่ เซาะซาไก วังปลาช่อน และยังอาจได้เจอฝูงนกเงือกฝูงใหญ่บินผ่านป่าสูง
ฝูงกระทิงที่ออกมาหากินตามทุ่งหญ้าที่ป่าฮาลา



อีกครั้งหนึ่ง กับการเดินทางท่ามกลางสายฝน ไอหมอก สู่ผืนป่าฮาลา เมื่อทีม อบต.อัยเยอร์เวง ได้รวมรวมทีมขึ้นไปสำรวจต้นน้ำคลองฮาลา เพื่อไปพิสูจน์คำร่ำลือว่า มีนกเงือกรวมฝูงใหญ่ มี500 ตัวบ้าง 1,000 ตัวบ้าง ซึ่งอยู่กลางป่าลึกเข้าไป
สุไฮมี มีนา คนต้นเรื่องจากอัยเยอร์เวง ได้รวมทีมเรือที่แกร่งๆ พร้อมกับอุปกรณ์การพักค้างแรมในป่านำพวกเราขึ้นไปยังฐานตชด. ฐานที่สอง จากสภาพระดับน้ำในคลองขึ้นสูง การขับเรือจึงสะดวกกว่าในช่วงหน้าแล้ง แต่ปัญหาคือ โขดแก่งหินมากมายที่ขวางทางน้ำหน้าฐาน ตชด.นั้น เราจะเอาเรือขึ้นไปได้ยังไง และในที่สุดเราก็เห็นว่า “ความแข็งแกร่ง บวกด้วยใจ ก็ไปถึง”
ทีมงานเรือที่เป็นคนท้องถิ่น คุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดี ระหว่างทางก็เจอสายฝนตกหนัก เบื้องหน้าม่านสายฝนขาวโพลน ป่าสองข้างทึบแน่น บางครั้งต้องหลบเลี่ยงกิ่งไม้ ขอนไม้ที่ล้มขวางทาง จนไปถึงจุดหมายที่เราจะเฝ้าชมฝูงนกเงือกกลับมารวมฝูงที่ต้นไม้สูงใหญ่ ไม่ห่างจากจุดตั้งแค้มป์มากนัก



สำหรับเรือ และจุดตั้งแค้มป์ต้องหลบซ่อนพรางตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งผิดปกติ จนนกเกิดความระแวงไพร เราพยายามก่อกองไฟให้มีควันน้อยที่สุด แล้วหุงหาอาหารให้เสร็จก่อนเวลาที่นกจะกลับรัง และทุกคนก็อยู่ในความสงบรอคอยการเดินทางกลับมาของนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่จะทยอยบินกลับมานอนบนต้นไม้ใหญ่ ที่มองเห็นในระยะที่ห่างสัก 500 เมตร

นกเงือกรามช้างปากเรียบฝูงใหญ่ที่บินผ่านป่าฮาลา


เสียงดังวืดๆ จากการกระพือปีกของนกขนาดใหญ่ เราก็คิดไปว่า หากทยอยกันมาเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ท่าทางจะเป็นนกหายากซะแล้ว ถ้าบินมารวมกันสัก 500 ตัว ตามที่มีการอวดสรรพคุณแล้ว ก็คงได้ภาพที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
บรรยากาศยามเย็น ค่อนข้างซึมเซา มีหมอกฝนลอยอ้อยอิ่งชิดยอดไม้ ประมาณ 5 โมงครึ่ง ก็ยังลุ้นว่าจะมีบินสักฝูงมั้ย แค่เสียงปีกกระพือแหวกอากาศก็ทำให้อุ่นใจขึ้นมาหน่อย ชุดแรกมา 5-6 ตัว บินตรงไปยังต้นไม้สูงตรงเป้าหมาย แต่กลับผ่านเลยไป
มากันเรื่อยๆ ต่อมาก็มีนกเงือกบินมาเป็นฝูง 10-20 ตัว  แล้วก็บินผ่านเลยไปอีก จากนั้นก็มีมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง บางฝูงมีประมาณ 50 ตัว (มานับเอาทีเหลัง จากภาพที่ถ่ายได้)


เป็นความโชคดีที่เราได้มาพบเห็นด้วยตัวเราเองว่า ผืนป่าฮาลาที่สมบูรณ์แห่งนี้ คือ บ้านหลังใหญ่ของกลุ่มนกเงือกหลากชนิด รวมถึงสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย ขนาดว่าฝูงกระทิงสามารถพบเจอกันระยะใกล้มาก หรือจะเป็นหมูป่า ชะนี ลิง ค่าง หรือนกชนิดอื่นๆ ซึ่งเราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของผืนป่าและสัตว์ป่าแต่ละชนิดที่อาศัยร่วมกัน
เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา
ใบไม้สีทอง



ด้วยลักษณะป่าดิบชื้นแบบมาลายัน มีพันธุ์ไม้เด่น จำพวกวงศ์ไม้ยาง มีต้นไม้ระดับเรือนยอดสูงใหญ่ มองเห็นชัดจากที่ไกลๆ ดูคล้ายบร็อคโคลี่ นั่นคือ ต้นสยา ในป่าฮาลา และป่าบาลา  มีทั้งสยาแดง ,สยาขาว, สยาเหลือง ซึ่งไม้กลุ่มพวกนี้ พบบ่อยว่าเป็นไม้มีโพรงเกิดขึ้น ทำให้นกเงือกจะมาใช้โพรงเหล่านี้ทำรัง ดังจะเห็นว่ามีนกเงือกหลายชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าฮาลา และป่าบาลา มีถึง 10 ชนิด จากทั้งสิ้น 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ได้มีการอพยพบินรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ จำนวน 1020 ตัว จากป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก มายังในพื้นที่แห่งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยรวมจำนวนนกทั้งหมดแล้วมีประมาณ 500 ตัว
นี่คือ ส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของผืนป่าฮาลาที่เราได้พบเห็นประจักษ์สายตาตนเอง ย่อมพิสูจน์ให้เห็นจริง ถึงความสมบูรณ์ของป่าใหญ่ พร้อมด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดำรงในธรรมชาติอย่างสมดุล นับว่าเป็นผืนป่าที่ทรงคุณค่า ควรแก่การดูแลรักษาไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน



ข้อมูลการเดินทาง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้จากปลัดอารีย์ หนูชูสุข อบต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา โทร.081 094 9452