วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

มหัศจรรย์ป่าดิบชื้นที่ผืนป่าฮาลา



มหัศจรรย์ป่าดิบชื้นที่ผืนป่าฮาลา

เรื่อง-ภาพ.....สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์










            หากกล่าวถึงผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งทั้งป่าเหนือ ป่าอีสาน ป่าตะวันออก ป่าตะวันตก  หรือป่าทางภาคใต้ ก็ล้วนเป็นผืนอนุรักษ์ที่ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือบางแห่งก็เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ยังมีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลพิทักษ์ป่าไว้
ผืนป่าสยากลางป่าทึบ
            สำหรับผืนป่าเขียวขจีตลอดทั้งปี จะเป็นจำพวกป่าดิบชื้น หรือป่าฝนอย่างเช่น ผืนป่ายอดเขาหลวง นครศรีธรรมราช ที่รู้จักคุ้นเคยอย่างดี หรือจะเป็นผืนป่าดิบชื้นหรือป่าฝน ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาส เรียกชื่อกันว่า ป่าฮาลา-บาลา บางครั้งก็เรียกสลับเป็น ป่าบาลา-ฮาลา ก็งงๆ กันไป




เบื้องต้นเราต้องมาทำความรู้จักกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับป่าบาลา ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยป่าแห่งนี้อาจเรียกชื่อสลับกัน โดยผู้คนที่อยู่ในอำเภอแว้งจะเรียกว่า "บาลา-ฮาลา" แต่คนที่อาศัยในอำเภอเบตงจะเรียกว่า "ฮาลา-บาลา" เป็นการแยกแยะได้ค่อนข้างชัดเจน



ผืนป่าทั้งสองตั้งอยู่ในเทือกเขาสันกาลาคีรี มีลักษณะป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเมืองร้อนที่อุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความชื้นสูงตลอดทั้งปี มีลำน้ำไหลผ่าน ถือได้ว่าเป็นผืนป่าดิบชื้นที่กว้างขวางและใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรมลายู

ช่วงบริเวณน้ำเอ่อในเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง



ความโดดเด่นของผืนป่าฮาลา มีที่มาของชื่อนี้ คือ คลองฮาลา เป็นสายน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากผืนป่าดิบชื้น มีสายน้ำสาขาไหลมาจากยอดเขาฮาลา มีหมู่บ้านฮาลาที่ตั้งอยู่ต้นน้ำ ในส่วนที่เป็นที่ราบกลางป่าลึก มีพื้นที่เรือกสวน ไร่นาของชาวบ้านที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาได้มีการอพยพย้ายออกมาตั้งหมู่บ้านที่ กม. 32 กม. 38 บนช่วงถนนสายยะลา-เบตง




ความสำคัญของผืนป่าฮาลา มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เป็นแหล่งต้นแม่น้ำปัตตานีที่ไหลมาลงเขื่อนบางลาง มีอุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลางได้ดูแลพื้นที่ในบางส่วน และยังเป็นแหล่งสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่ท่ามกลางป่าบริสุทธิ์ สิ่งที่ร่ำลือว่าผืนป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนหายาก มีนกเงือกหลากชนิด ในบางช่วงฤดูกาลจะพบนกเงือกรวมฝูงเป็นหลายร้อยตัว หรือนับพันตัว สำหรับข้อมูลแบบนี้ค่อนข้างจะเชื่อยาก หากไม่มีภาพให้เห็น หรือไม่ได้เห็นด้วยสายตาตัวเอง


หลายครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าสู่ผืนป่าฮาลาตามเส้นทางเรือ ขึ้นไปยังต้นน้ำป่าฮาลา มีคลองฮาลาเป็นเส้นทางหลัก โดยมีฐานปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ 2 ฐาน มีฐานแรก คือ ฐานปฏิบัติการ ตชด.ที่ 445 ฐานนางนวล (ฐานล่าง) เรือขนาดใหญ่สามารถไปได้สะดวก ส่วนฐานที่สอง ต้องใช้เรือหางยาวขนาดเล็กๆ ทวนกระแสน้ำขึ้นไป  เนื่องน้ำในคลองตื้นมาก สายน้ำใสมองเห็นพื้นทรายได้ชัดเจนสำหรับการเดินทางขึ้นไปยังผืนป่าฮาลานั้น ยังเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างลำบาก จึงไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ธรรมชาติจึงคัดกรองคนที่รักธรรมชาติ นักเที่ยวป่า ท่องเที่ยวไพร หรือศึกษาธรรมชาติ สัมผัสกลิ่นไอป่าเขา และสรรพเสียงของสัตว์ป่าในไพรลึก
การเดินทางสู่ต้นน้ำป่าฮาลา ต้องฝ่าโขดแก่งแบบเช่นนี้
สภาพป่าฮาลาที่มีสายคลองขนาดใหญ่ สายน้ำใส มองเห็นผืนทราย มีตอไม้ที่โดนน้ำท่วมยืนต้น เหนือขึ้นไปยังเนินเขาก็เป็นป่าทึบ ยังได้พบกับต้นย่านดาโอ๊ะ หรือ ใบไม้สีทองที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วป่าทึบ ตลอดเส้นทางเดินเท้าจะเป็นทุ่งหญ้าที่ปรากฏรอยเท้ากระทิงย่ำไปทั่ว แสดงว่าเป็นกระทิงฝูงที่หากินในบริเวณริมคลองตลอดทั้งสาย เนื่องจากเป็นทุ่งหญ้าระบัดขึ้นมาในหลังน้ำลด จึงทำให้เป็นแหล่งอาหารของกระทิงป่าที่เรามีโอกาสพบเห็นได้ในช่วงเย็นตรู่  ช่วงเย็นย่ำใกล้มืด สำหรับจุดพบเจอกระทิงอยู่บ่อย ได้แก่ เซาะซาไก วังปลาช่อน และยังอาจได้เจอฝูงนกเงือกฝูงใหญ่บินผ่านป่าสูง
ฝูงกระทิงที่ออกมาหากินตามทุ่งหญ้าที่ป่าฮาลา



อีกครั้งหนึ่ง กับการเดินทางท่ามกลางสายฝน ไอหมอก สู่ผืนป่าฮาลา เมื่อทีม อบต.อัยเยอร์เวง ได้รวมรวมทีมขึ้นไปสำรวจต้นน้ำคลองฮาลา เพื่อไปพิสูจน์คำร่ำลือว่า มีนกเงือกรวมฝูงใหญ่ มี500 ตัวบ้าง 1,000 ตัวบ้าง ซึ่งอยู่กลางป่าลึกเข้าไป
สุไฮมี มีนา คนต้นเรื่องจากอัยเยอร์เวง ได้รวมทีมเรือที่แกร่งๆ พร้อมกับอุปกรณ์การพักค้างแรมในป่านำพวกเราขึ้นไปยังฐานตชด. ฐานที่สอง จากสภาพระดับน้ำในคลองขึ้นสูง การขับเรือจึงสะดวกกว่าในช่วงหน้าแล้ง แต่ปัญหาคือ โขดแก่งหินมากมายที่ขวางทางน้ำหน้าฐาน ตชด.นั้น เราจะเอาเรือขึ้นไปได้ยังไง และในที่สุดเราก็เห็นว่า “ความแข็งแกร่ง บวกด้วยใจ ก็ไปถึง”
ทีมงานเรือที่เป็นคนท้องถิ่น คุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดี ระหว่างทางก็เจอสายฝนตกหนัก เบื้องหน้าม่านสายฝนขาวโพลน ป่าสองข้างทึบแน่น บางครั้งต้องหลบเลี่ยงกิ่งไม้ ขอนไม้ที่ล้มขวางทาง จนไปถึงจุดหมายที่เราจะเฝ้าชมฝูงนกเงือกกลับมารวมฝูงที่ต้นไม้สูงใหญ่ ไม่ห่างจากจุดตั้งแค้มป์มากนัก



สำหรับเรือ และจุดตั้งแค้มป์ต้องหลบซ่อนพรางตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งผิดปกติ จนนกเกิดความระแวงไพร เราพยายามก่อกองไฟให้มีควันน้อยที่สุด แล้วหุงหาอาหารให้เสร็จก่อนเวลาที่นกจะกลับรัง และทุกคนก็อยู่ในความสงบรอคอยการเดินทางกลับมาของนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่จะทยอยบินกลับมานอนบนต้นไม้ใหญ่ ที่มองเห็นในระยะที่ห่างสัก 500 เมตร

นกเงือกรามช้างปากเรียบฝูงใหญ่ที่บินผ่านป่าฮาลา


เสียงดังวืดๆ จากการกระพือปีกของนกขนาดใหญ่ เราก็คิดไปว่า หากทยอยกันมาเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ท่าทางจะเป็นนกหายากซะแล้ว ถ้าบินมารวมกันสัก 500 ตัว ตามที่มีการอวดสรรพคุณแล้ว ก็คงได้ภาพที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
บรรยากาศยามเย็น ค่อนข้างซึมเซา มีหมอกฝนลอยอ้อยอิ่งชิดยอดไม้ ประมาณ 5 โมงครึ่ง ก็ยังลุ้นว่าจะมีบินสักฝูงมั้ย แค่เสียงปีกกระพือแหวกอากาศก็ทำให้อุ่นใจขึ้นมาหน่อย ชุดแรกมา 5-6 ตัว บินตรงไปยังต้นไม้สูงตรงเป้าหมาย แต่กลับผ่านเลยไป
มากันเรื่อยๆ ต่อมาก็มีนกเงือกบินมาเป็นฝูง 10-20 ตัว  แล้วก็บินผ่านเลยไปอีก จากนั้นก็มีมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง บางฝูงมีประมาณ 50 ตัว (มานับเอาทีเหลัง จากภาพที่ถ่ายได้)


เป็นความโชคดีที่เราได้มาพบเห็นด้วยตัวเราเองว่า ผืนป่าฮาลาที่สมบูรณ์แห่งนี้ คือ บ้านหลังใหญ่ของกลุ่มนกเงือกหลากชนิด รวมถึงสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย ขนาดว่าฝูงกระทิงสามารถพบเจอกันระยะใกล้มาก หรือจะเป็นหมูป่า ชะนี ลิง ค่าง หรือนกชนิดอื่นๆ ซึ่งเราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของผืนป่าและสัตว์ป่าแต่ละชนิดที่อาศัยร่วมกัน
เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา
ใบไม้สีทอง



ด้วยลักษณะป่าดิบชื้นแบบมาลายัน มีพันธุ์ไม้เด่น จำพวกวงศ์ไม้ยาง มีต้นไม้ระดับเรือนยอดสูงใหญ่ มองเห็นชัดจากที่ไกลๆ ดูคล้ายบร็อคโคลี่ นั่นคือ ต้นสยา ในป่าฮาลา และป่าบาลา  มีทั้งสยาแดง ,สยาขาว, สยาเหลือง ซึ่งไม้กลุ่มพวกนี้ พบบ่อยว่าเป็นไม้มีโพรงเกิดขึ้น ทำให้นกเงือกจะมาใช้โพรงเหล่านี้ทำรัง ดังจะเห็นว่ามีนกเงือกหลายชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าฮาลา และป่าบาลา มีถึง 10 ชนิด จากทั้งสิ้น 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ได้มีการอพยพบินรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ จำนวน 1020 ตัว จากป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก มายังในพื้นที่แห่งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยรวมจำนวนนกทั้งหมดแล้วมีประมาณ 500 ตัว
นี่คือ ส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของผืนป่าฮาลาที่เราได้พบเห็นประจักษ์สายตาตนเอง ย่อมพิสูจน์ให้เห็นจริง ถึงความสมบูรณ์ของป่าใหญ่ พร้อมด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดำรงในธรรมชาติอย่างสมดุล นับว่าเป็นผืนป่าที่ทรงคุณค่า ควรแก่การดูแลรักษาไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน



ข้อมูลการเดินทาง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้จากปลัดอารีย์ หนูชูสุข อบต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา โทร.081 094 9452





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น