วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ตามหาทุ่งหญ้าสีเขียว กระเจียวแดงที่ทุ่งเวียจาทิโพ่


โดย….สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์



ปรง 7 ยอด

เป็นบันทึกการเดินทางสู่ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ที่ได้กล่าวถึงธรรมชาติป่าเขา สัตว์ป่า วงจรธรรมชาติ เรื่องราวของผู้คนที่ได้เข้าไปสัมผัส เรียนรู้ธรรมชาติในผืนป่าที่ทรงคุณค่ามหาศาล


นับจากปี 2525 เป็นการเดินทางเข้าสู่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นครั้งแรก และต่อจากนั้น ก็ได้มีโอกาสเข้าไปอีกหลายครั้ง มีทั้งการเดินป่า การขับรถเข้าไปตามจุดต่างๆ จนกระทั่งประมาณปี 2546 เป็นปีสุดท้ายที่เข้าไปเดินป่า (แต่ยังไม่ใช่ปีท้ายสุด คงต้องมีไปกันอีก)




ประตูเส้นทางธรรมชาติแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ที่เลื่องชื่อว่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่ล้ำค่า ที่คนไทยทุกคนได้รู้จักเป็นอย่างดี แต่เชื่อแน่ได้เลยว่ามีน้อยคนมากที่จะได้ไปสัมผัสหรือศึกษาสภาพธรรมชาติของป่าทุ่งใหญ่ได้อย่างจริงจังถึงในพื้นที่



ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน หากเรามองตามข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ชุกชุม มีห่วงโซ่อาหารขนาดใหญ่ที่สัมพันธภาพกันอย่างสมดุลท่ามกลางผืนป่าใหญ่ ที่ครบถ้วนทั้งผืนป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้าสะวันนา




ศาลฤาษี เป็นที่เคารพนับถือของกะเหรี่ยงป่าทุ่งใหญ่นเรศวร




จุดมุ่งหมายของแต่ละคนที่เดินทางเข้าสู่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น เพียงเพื่อให้ได้รู้ว่า ป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นอย่างไรบ้าง เราจะพบว่าเขายังขาดข้อมูลสื่อความหมายทางธรรมชชาติจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม นักท่องเที่ยวจึงต้องอยู่ตามเส้นทางถนนที่ผ่านใจกลางพื้นที่ ส่วนมากต้องแวะพักตามหน่วยที่อยู่ตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทินวย ทิคอง ซ่งไท้ เซซาโว่ แม่กะสะ เป็นต้น ไม่ได้เจาะลึกไปตามจุดสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเที่ยวแบบขับรถ ก็จะออกมาในรูปแบบแค้มป์คาร์
จะมีบ้างก็เป็นกลุ่มดูนก ดูผีเสื้อ ศึกษาธรรมชาติอื่นๆ ที่ค่อนข้างเข้าถึงธรรมชาติได้ลึกซึ้งกว่า มีสาระทางความรู้ที่จะได้รับจากการเดินทางสู่ผืนป่าแห่งนี้ หากเป็นกลุ่มเดินป่าก็จะเป็นนักเที่ยวอีกประเภทที่ต้องการสัมผัสและต้องการเห็นเนื้อแท้ของธรรมชาติป่าเขาและชีวิตสัตว์ป่าได้มากยิ่งขึ้น
ต้นวสันตฤดูแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จะเป็นภาพธรรมชาติอีกภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความสมบูรณ์ และวงจรชีวิตที่ธรรมชาติผลิแตกชีวิตใหม่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ป่าทั่วไป







ประตูสู่ทุ่งใหญ่นเรศวร


ทุกครั้งที่เราจะเดินทางเข้าผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องมีการทำเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่แห่งนี้โดยทำหนังสือขออนุญาตจากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่กรมป่าไม้เดิม และความเตรียมพร้อมด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นพาหนะที่จะเข้าทุ่งใหญ่ ควรเป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีสมรรถนะการเดินทางที่เหมาะสม อีกทั้งอุปกรณ์พักแรม เสบียงอาหารที่ต้องจัดไปให้พร้อม




สภาพเส้นทางเข้าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ส่วนใหญ่แล้วเรามักเลือกเดินทางออกจากรุงเทพฯ ตอนช่วงหัวค่ำเข้าตัวเมืองกาญจนบุรี แล้วต่อไปทองผาภูมิ เติมน้ำมันให้เต็มถังแล้วก็เดินทางไปยังทุ่งใหญ่ ที่มีทางแยกที่สำนักพุทโธ เข้าสู่บ้านทุ่งเสือโทน แล้วจะมีป้ายบอกทางเข้าทุ่งใหญ่ จนมาสิ้นสุดระยะทางช่วงแรกที่ด่านฯ ทินวย ก็ประมาณอยู่ตี



จากนั้นแล้วต่างคนต่างหามุมกางเต็นท์พักผ่อนเอาแรง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ผืนป่าใหญ่ในเช้าวันรุ่งขึ้น
อากาศช่วงเช้าท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ สรรพเสียงของหมู่นกหลากชนิดที่เซ็งแซ่ขานรับอย่างสดใส ใครที่ชื่นชอบการดูนกรับรองว่าไม่ผิดหวังแน่ ทั้งนกแซงแซว นกปรอด นกกางเขนดง นกโพระดก นกพญาไฟ และนกอื่นๆ 


แค้มป์ริมห้วยเซซาโว่


ลักษณะของป่าเบญจพรรณที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และมีแหล่งอาหารของนกค่อนข้างเยอะกว่าป่าประเภทอื่นๆ ทั้งลูกไทร ลูกไม้ ดอกไม้ มีมาก ทำให้มีแมลงมาดมดอมเกสรดอกไม้  เหล่าหมู่นกก็มาเลือกหาอาหารได้ทั้งลูกไม้และแมลง



หลังจากการทำเอกสารและจัดแจงเรื่องอาหารเช้าแล้วเสร็จ เราก็เดินทางกันต่อไปยังเป้าหมายข้างหน้า เส้นทางถนนที่ตัดใจกลางป่าทุ่งใหญ่ จะเป็นเส้นทางมีการใช้สอยได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น หลังจากหมดฝนถนนแห้งก็มีการซ่อมแซมถนนเพื่อการใช้งานอีกครั้ง อย่างช่วงต้นฝนดูเหมือนว่าอุปสรรคข้างหน้ายังมีมากมาย บ่อโคลน แอ่งน้ำมีขนาดลึกๆ ทั้งสิ้น



ทุ่งหญ้าระบัด และต้นเป้ง

ระยะทางช่วงแรกเราผ่านหน่วยฯ ทิคอง เป็นหน่วยที่เป็นแหล่งดูนกได้ดีอีกจุดหนึ่ง และยังได้ตื่นเต้นกับเก้งน้อยที่ออกมาเลาะเล็มหญ้าอ่อนที่ผลิแตกใบใหม่ในช่วงต้นฝน ในบริเวณหน่วยฯ ที่ออกจะคุ้นเคยกับคนสักหน่อย



จาก ทิคองมุ่งหน้าไปซ่งไท้ เป็นเส้นทางที่ออกอาการโหดมากยิ่งขึ้น หลุมบ่อแอ่งน้ำ มีช่วงขึ้นเขาประชิ ที่ชันยาวและลื่นอยู่พอควร จนกระทั่งเข้าไปถึงหน่วยซ่งไท้ ที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตทุ่งใหญ่นเรศวรมาก่อน แต่ปัจจุบันได้ย้ายสำนักงานเขตไปอยู่ที่ด่านทินวยแล้ว เพื่อความสะดวกในการติดต่อประมาณงานที่สะดวกรวดเร็วและคล่องตัวมากกว่ากัน
เส้นทางกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังขึ้นชื่อถึงความโหด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงหน้าฝน กว่าจะถึงเป้าหมายได้ก็กินเวลาไปมากเกินกว่าที่คิดไว้



เส้นทางผ่านป่าทุ่งใหญ่


จาก ซ่งไท้ต้องผ่านห้วยซงซ่ง เราต้องขับรถผ่านลำห้วยแห้ง บางช่วงเป็นแอ่งน้ำ เมื่อพ้นแนวลำห้วยแล้วก็จะผ่านป่าที่เป็นทุ่งหญ้าที่อยู่ระดับพื้นล่าง สภาพป่าช่วงต้นฝนพบว่าป่าด้านล่างโล่งเตียน มีทุ่งหญ้าขึ้นคลุมหน้าดิน จึงมีโอกาสมองเห็นสัตว์ป่าจำพวกเก้งออกมากินหญ้าอยู่เป็นระยะๆ
ป่าทุ่งใหญ่ที่เป็นป่าทุ่งหญ้าผสมผสานกับป่าเบญจพรรณ ยังมีต้นปรง ต้นเป้งขึ้นแทรกปะปนอยู่มาก จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของผืนป่าแห่งนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของป่าทุ่งหญ้า เราก็จะพบต้นปรงและต้นเป้งขึ้นแซมแทรกกระจายอยู่ทั่วไป



ผ่าน ห้วยดงวี่ ซึ่งเป็นห้วยใหญ่ที่มีสายน้ำกว้างมีน้ำไหลตลอดปี มีสภาพบรรยากาศป่าที่ร่มรื่น ทุกครั้งที่ผ่านมายังห้วยดงวี่เราต้องแวะพักคนพักรถ อย่างน้อยๆ ก็สามารถหาชมผีเสื้อแถบบริเวณริมห้วย ที่ผีเสื้อเหล่านั้นจะดูดกินแร่ธาตุหาอาหารตามพื้นทราย




จอดพักรถ พักคนที่ห้วยดงวี่

ต่อจากนั้นเราได้เดินทางผ่านแนวป่าทุ่งใหญ่ตามเส้นทางรถยนต์ ผ่านศาลฤาษี อันเป็นที่สักการะของชาวกะเหรี่ยงที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และอีกไม่นานนักเราก็ผ่านบริเวณทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่มีไม้เล็กๆ ขึ้นแซมแทรกกระจายไปทั่วทุ่ง และจนมาถึงห้วยเซซาโว่ เราได้พบหน่วยฯ ชั่วคราว ตั้งอยู่ใกล้กับริมห้วย ซึ่งมีบรรยากาศร่มรื่น มีสายน้ำห้วยเซซาโว่ ไหลรินไม่ขาดสาย ดูว่าเป็นสายน้ำขนาดเล็กไม่ใหญ่มากนัก
แค้มป์ริมห้วยเซซาโว่แห่งนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของแหล่งศึกษาธรรมชาติที่อยู่กระจายรายรอบไม่ว่าจะเป็นต้นปรง  7 ยอด, น้ำตกเซซาโว่, ทุ่งเวียจาทิโพ่ และทุ่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง



ต้นไม้โบราณ ปรง 7 ยอด



ปรง 7 ยอด ช่วงต้นฝน

เราเลือกตั้งแค้มป์ทำเลริมห้วยเซซาโว่ที่มีสภาพบรรยากาศร่มรื่น เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมาเราเคยมาสัมผัสบรรยากาศห้วยเซซาโว่แห่งนี้มาหนหนึ่งแล้ว บรรยากาศเถื่อนๆ ในคืนเดือนมืด พรานสมัครเล่นที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผ่านทางมาในยามค่ำคืนที่เขาสามารถล่าสัตว์ป่าได้ตามเส้นทางรถที่ผ่าน
ทุกวันนี้ข่าวคราวการล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่ก็มีน้อยลง เจตนาของเข้าทุ่งใหญ่ เพียงเพื่อศึกษาธรรมชาติมกกว่าที่จะเช้ามาล่า ส่วนใหญ่คนที่นิยมล่าสัตว์ป่ามักเป็นผู้มีอำนาจและมีปืน ซึ่งใช้สิ่งเหล่านี้ไปในทางที่ไม่เหมาะสม จึงได้เกิดจากปัญหา กรณีป่าทุ่งใหญ่ เมื่อปี 2516 มาหนหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจารย์ระดับ ซี 8 ก็โดนเล่นเสียอ่วมเลยล่ะ




น้ำตกเซซาโว่

แค้มป์เซซาโว่ในสมัยปี 2516 กับ ปี 2546 ก็ได้เปลี่ยนไปมาก ภาพหนึ่งคือ แค้มป์ล่าสัตว์ของพรานบรรดาศักดิ์ที่เป็นข่าวปูดขึ้นมาเมื่อมีเฮลิคอปเตอร์ตกที่นครปฐม และเป็นหนึ่งในชนวนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516



เป็นเวลาถึง 30 ปี ทีเดียว จะรวดเร็วอะไรปานนั้น ปี 2546 ก็เกิดแค้มป์เซซาโว่ขึ้นมาเป็นลักษณะของหน่วยพิทักษ์ป่าขึ้นมาแล้ว แม้จะเป็นหน่วยชั่วคราว ก็สามารถดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ระดับหนึ่งเช่นกัน
เราได้ยึดทำเลพักตั้งแค้มป์ที่ริมห้วยเซซาโว่ มิตรสหายเก่าๆ อย่างเสือทองคำ ลูกจันทร์ ลูกจ้างป่าไม้ที่ทุกวันนี้ต้องกลายเสือพ่อลูกอ่อนไปแล้ว และเป็นธรรมดาทีเดียวที่แม่เสือย่อมดุตามสัญชาตญาณ น้ำแอลกอฮอล์ของพ่อเสือจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นค่านมลูกอย่างเลี่ยงไม่ได้



ช่วงบ่ายของเวลาที่เหลือเสือ ได้พาเราไปชม ปรง 7 ยอด ที่อยู่ห่างจากหน่วยฯ ไปไม่ถึงกิโลเมตร จากนั้นก็เดินเท้าเข้าไปในบริเวณทุ่งหญ้าที่ประกอบด้วยจ้นเป้งจำนวนมาก และยังพบลูกเป้งสุกสีดำคล้ำที่มีรสชาติเหมือนกับลูกอินทผลัม ลูกเป้งสุกนี้ก็จะเป็นอาหารโปรดของหมู่นกชนิดต่างๆ
ป่าทุ่งหญ้าที่มีร่องเท้ากระทิงเกลื่อนพื้น แถมยังส่งกลิ่นสาบสางของสัตว์ล่ำถึก คาดว่าพวกมันคงหากินในบริเวณทุ่งหญ้านี้ และผ่านไปได้ไม่นานนัก เพราะกลิ่นค่อนข้างแรงมาก



ปรง 7 ยอด

เดินยังไม่เหนื่อยเลย พี่เสือก็พาพวกเรามาถึงต้นปรงโบราณ มีลำต้นขนาดใหญ่ เอนเอียงตามน้ำหนักของปลายยอดที่แตกแยกไปถึง 7 กิ่ง 7 ยอด แต่น่าเสียดายที่มียอดหนึ่งได้หักผุพังไปแล้ว เหลือยอดที่สมบูรณ์อยู่ 6 ยอด จนกลายเป็นปรง 6 ยอด ทิ้งตำนานของปรง 7 ยอดไปอย่างน่าเสียดาย
มหัศจรรย์ธรรมชาติของป่าทุ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นต้นปรง ที่จัดเป็นต้นไม้โบราณ คาดว่าอายุนับร้อยนับพันปี เนื่องจากมีลำต้นขนาดสูงใหญ่ และมีการแตกปลายยอดของต้นปรงออกถึง 7 ยอดด้วยกัน


น้ำตกเซซาโว่ หน้าผาสูงแต่น้ำน้อย


กลับมาที่พักทุกคนต่างช่วยกันสร้างสรรค์อาหารมื้อเย็นจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงได้ปรึกษาหารือวางแผนไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ของป่าทุ่งใหญ่ 

ถ้าจะไปน้ำตกเซซาโว่ ก็ต้องออกตอนสักหน่อย กลับมาเที่ยงๆ แล้วค่อยไปทุ่งเวียจาทิโพ่

พี่เสือ, ได้ให้ข้อมูลของจุดที่เราจะเที่ยวได้ตามความเหมาะสมของเวลา น้ำตกเซซาโว่ถือเลือกไว้ภาคเช้า ส่วนภาคบ่ายก็จะเข้าตัวทุ่งที่ใช้เวลาเดินป่าประมาณ 2-3 ชั่วโมง และพักค้างแรมที่ใจกลางทุ่งสักคืนหนึ่ง โดยวางแผนการเตรียมอาหาร อุปกรณ์แค้มป์ เท่าที่ทราบว่าบริเวณใจกลางทุ่งจะมีแหล่งน้ำ พร้อมกับเพิงถ้ำที่สามารถอาศัยนอนได้ หากใครไม่อยากแบกเต็นท์ไปก็เลือกเอาเพิงถ้ำเป็นที่พักได้เลย




น้ำตกเซซาโว่


เช้าวันรุ่งขึ้นเราทุกคนได้เตรียมตัวเดินทางไปยังน้ำตกเซซาโว่ โดยมีพี่เสือนำทาง สภาพป่าที่เราเดินทางจะเป็นป่าไผ่ผสมกับป่าสูงใหญ่ มีเลียบตามแนวลำห้วยเซซาโว่ มีลักษณะของลำธารเป็นห้วยหินปูน ที่ค่อนข้างจะแห้งเหือดกับสายน้ำ บางช่วงจะพบแอ่งน้ำใส บางช่วงมีน้ำไหลรินผ่านแนวป่าทึบ ยิ่งลึกเข้าไปก็ดูว่าแห่งนี้ไม่ธรรมดาเสียแล้ว สภาพพื้นที่ที่ชื้นจะพบร่องเท้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิง จะมีให้เห็นได้ชัดเจนทีเดียว นอกนั้นก็เป็นรอยเท้าเก้งกวาง



สิ่งที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของป่าก็ได้แก่ ทาก พวกเราแต่ละคนค่อนข้างและหวดกลัวกับฝูงทากที่คอยจ้องดักเหยื่อที่ผ่านเส้นทางราวไพร ทางฝ่ายพี่เสือก็พาหมู่เฮาวกไปวนมา จนกระทั่ง

มาถึงน้ำตกแล้วครับเสือบอกเรา

ไหนว่ะไม่เห็นน้ำตกเลย น้ำตกอยู่ไหน


พวกเราร้องเรียกหาน้ำตกเซซาโว่ที่ปราศจากเสียงสายน้ำกระโจนกระทบหิน ลักษณะของน้ำตกเซซาโว่นั้นเป็นหน้าผาสูงชันที่อยู่ทางด้านล่างลงไป ซึ่งมีสภาพเป็นหุบป่าทึบอยู่ด้านล่าง เราจะชมน้ำตกได้ก็ต้องไต่ผาสูงชันลงไปด้านล่าง ตอนนี้เท่าที่ทำได้คือ การชะเง้อมองไปชมน้ำตกที่แทบไม่เห็นสายน้ำแต่อย่างใด กลายเป็นน้ำตกหายากขึ้นมาเสียแล้ว เราเห็นแต่แอ่งน้ำสีเขียวขนาดเล็กที่อยู่ก้นน้ำตก
คงเป็นไปตามสภาพธรรมชาติของฤดูกาล ถ้าเป็นหน้าฝนน้ำตกเซซาโว่คงสวยไม่น้อยกว่าที่อื่นๆ แต่จะเข้าไปดูได้อย่างไรล่ะ เส้นทางเข้าทุ่งใหญ่นั้นแสนลำบากยากเข็ญ อย่างมากคงเข้าไปได้แค่ซ่งไท้ก็เกินพอแล้ว




แต่ละคนดูเหมือนว่าจะผิดหวังกับธรรมชาติที่ไม่สวยอย่างที่คิดไว้ ไม่คุ้มกับฝ่าดงทากเข้าไป แถมตอนออกมาก็เจออีกชุดใหญ่  บ่ายแก่ๆ ที่ก็กลับมาถึงที่พัก สภาพแต่ละคนอิดโรยเหนื่อยล้าไม่อยากไปต่อที่ไหนอีกแล้ว ในที่สุดก็ต้องจำใจเข้าตัวทุ่งอย่างออกอาการเกี่ยงกันบ้าง รายที่ขาเจ็บได้ขอผ่านไปอย่างน่าเสียดาย



สู่เวียจาทิโพ่ ตามหากระเจียวแดง


ทุ่งเวียจาทิโพ่ สะดือทุ่งแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ประมาณบ่าย 2 โมงกว่าที่เราเริ่มเดินทางสู่ตัวทุ่งใหญ่ โดยให้รถไปส่งที่ปากทางที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เป็นเนินทุ่งหญ้าที่แนวเขตติดต่อกับป่าเบญจพรรณ สภาพเส้นทางจะเป็นทุ่งหญ้าด้านล่าง  มีต้นไม้ไม่ใหญ่นักกระจายขึ้นอยู่ทั่วไป จนเข้าสู่แนวเทือกเขาที่เราต้องเดินขึ้นเขาที่สูงชันพอควร เล่นเอาเหงื่อซึม แต่ไม่ทันไรเราก็พบสายฝนกระหน่ำมาอย่างหนัก ก็เป็นผลดีที่ทำให้การเดินป่าไม่ร้อนเหมือนอย่างที่คิด เพราะฝนตกหนักอยู่พักหนึ่งแล้วหยุดไป


แค้มป์กลางทุ่งเวียจาทิโพ่

พ้นถึงยอดเขาแล้วเราก็เข้าป่าไผ่ จนทะลุป่าเบญจพรรณ ที่พบหมู่นกหลายชนิดส่งร้องอยู่ตามต้นไม้ที่มีลูกไม้ ต่อมาอีกไม่นานก็มาถึงป่าทุ่งหญ้า พบว่าทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นใหม่ได้ปกปิดร่องรอยทางเดินเก่าจนหายไปหมด ปีนี้คิดว่ากะเหรี่ยงเข้าไปทำบุญถือศีลที่กลางทุ่งน้อยกว่าปีอื่นๆ


ไฟไหม้แล้ว หญ้าขึ้นใหม่รกปิดทางเก่า หาทางไปยากครับ



พี่เสือที่นำทางก็เดินวนเล็งหน้าแนวเทือกเขาที่ค้นหาตำแหน่งเส้นทางให้ถูกต้อง จนในที่สุดเราก็รู้ว่าพี่เสือพาฉีกขึ้นเหนือไปมาก เพราะเราต้องย้อนลงมาทางเขาไล่ชิกงอีกเล็กน้อย


เขาไล่ชิกง เป็นยอดเขาหินปูนที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง มีเพิงถ้ำใหญ่พออาศัยพักค้างแรมได้ร่วม 10 คน ถัดจากเขาไล่ชิกงไปเล็กน้อยก็จะพบกับทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ของบริเวณทุ่งเวียจาทิโพ่ ยังมีพบหนองน้ำแห้งที่มีร่องรอยเท้าสัตว์ป่าลงมากินน้ำ ทั้งกระทิง เก้ง กวาง หมูป่า ย่ำกันเป็นเทือกเชียว


เขาไล่ชิกง

ฤดูกาลแห่งธรรมชาติของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่เกิดหญ้าระบัดเป็นกว้าง ภายใต้กอหญ้าสีเขียวสดใสเหล่านั้นเราก็ได้พบกับสีสันดอกไม้ป่าเป็นจำพวกพืชหัวใต้ดิน คือ  กระเจียวแดง  ที่แทงดอกขึ้นพื้นดิน เช่นเดียวกับต้นหญ้าอ่อนที่เรียกว่า หญ้าระบัด พร้อมกับการกำเนิดใหม่ของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่กลางทุ่ง
ในพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ของทุ่งเวียจาทิโพ่ มีลักษณะเป็นที่ราบเป็นลอนลูกฟูก มองเห็นแนวเทือกเขาทอดยาวอยู่ทางตอนเหนือ  ตรงบริเวณใจกลางทุ่งจะมีแหล่งน้ำวับที่ผุดจากใต้ดินตลอดทั้งปี มีลูกเขาหินปูนตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่ง มีเพิงถ้ำที่ต้องไปอาสัยพักค้างแรมที่มีร่องรอยชาวกะเหรี่ยงเข้ามาทำบุญทุกปี




ทุ่งเวียจาทิโพ่ : ทุ่งกระเจียวแดง


เนื่องจากในบริเวณใจกลางทุ่งเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติจึงมีสัตว์ป่าเข้ามากินน้ำเป็นประจำ พร้อมกับผลไม้ป่าไม่ว่าจะเป็นจำพวกส้าน กระโดน มะขามป้อม สำรวจพื้นที่บริเวณนี้แล้วก็ร่องเท้าสัตว์สัตว์กีบตั้งแต่กระทิงลงมาถึงเก้ง แสดงว่าถิ่นแถบนี้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ค่อนข้างชุกชุม


ท่ามกลางความมืดในป่าใหญ่ สรรพเสียงยามราตรีก็มีเสียงตกตบยุงร้องจุ๊ง จุ๊ง จุ๊ง อยู่รอบที่พัก นานๆ ครั้งจะมีเสียงกวางออกมาบ้าง ความรู้สึกของการเข้ามาสัมผัสพงไพรที่เรามีความใกล้กับธรรมชาติมากที่สุด เราตื่นมาตอนดึกสงัด หูที่นอนแนบพื้นก็ได้ยินกระแทกหนักๆ ดังเป็นจังหวะ ซึ่งแสดงให้รู้ว่ามีสัตว์กีบบางชนิดเข้ามาใกล้ที่พัก คาดว่าเป็นบริเวณแหล่งน้ำ



น่าจะเป็นกวางป่าที่แสดงอาการหวาดระแวงสิ่งผิดปกติ และส่งสัญญาณเตือนภัยขึ้นมา เป็นการกระแทกเท้าลงบนพื้น ต่อจากนั้นทุกอย่างเงียบไป จนกระทั่งเช้าเราก็พบโลกของความสดใสที่พร่างพราวตามยอดหญ้าอ่อน สรรพเสียงของหมู่นกได้หวนกลับคืนมาในวันใหม่ เสียงที่เซ็งแซ่ขานรับกระจายอยู่รอบด้าน 



ช่วงยามเช้าที่เราเดินสำรวจแนวป่าเพื่อค้นหามุมสูงที่จะดูผืนทุ่งหญ้าขนาดกว้าง ซึ่งต้องปีนผาหินปูนขึ้นไป ที่เราสามารถขึ้นอยู่ได้ระดับหนึ่ง หากขึ้นไปถึงยอดเขาได้ก็น่าจะเป็นจุดชมวิวที่ดี แต่เสี่ยงกับความคมของหินที่อาจเล่นงานเราได้


ช่วงเวลาที่เหลือเราได้ไปสำรวจร่องรอยแขกที่มาเยือนในยามราตรีก็พบรอยเท้ากวางขนาดใหหญ่ เป็นรอยที่จิกลึกในพื้นดินที่ชุ่มน้ำ เราเองก็อดหวั่นไม่ได้ว่า เมื่อมีสัตว์กีบเข้ามาอย่างนี้ แล้วจะมีผู้ล่าอย่างอื่นย่องตามเข้ามาด้วย ถ้าเป็นเวลากลางคืนก็ดูน่าหลัวเช่นกัน





หลังจากที่เก็บเกี่ยวบรรยากาศแห่งท้องทุ่งเวียจาทิโพ่ ชมดอกกระเจียวอย่างเหมาะสมกับเวลาแล้ว จึงได้เดินทางกลับแค้มป์เซซาโว่ เพื่อเดินทางกลับต่อไป เราต้องวางแผนเวลาการเดินทางให้พอเหมาะ เพราะมาถึงแค้มป์เซซาโว่ช่วงบ่ายแล้ว หลังอาหารเที่ยงก็ต้องรีบเก็บข้าวเก็บของออกจากป่าทุ่งใหญ่ เพราะเราไม่อยากขับรถในป่าทุ่งใหญ่ที่อยู่ในช่วงเย็น หากรถเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ปัญหาอื่นๆ จะตามมาอีกมาก เอาแค่หลุดจากตัวบริเวณทุ่งใหญ่ให้มาถึงด้านทินวยสัก 5 โมงเย็น ถือว่าเป็นเวลาที่ดีที่สุด เพราะถ้ามืดกว่านี้เกิดรถติดหล่มขึ้นมา ยุ่งแน่นอน


ทุ่งเวียจาทิโพ่ จากมุมสูง ด้วยการปีนยอดเขา ถ่ายภาพลงมา


ความสดใสของผืนป่าสีเขียวที่เกิดขึ้นในช่วงต้นวสันต์ ผืนป่าใหญ่ได้ให้ชีวิตใหม่ไม่ว่าทั้งสัตว์ป่าและพืช วงจรชีวิตธรรมชาติได้สร้างสรรค์อย่างสมดุลตามห่วงโซ่อาหาร ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งธรรมชาติแหล่งสัตว์ป่าที่ดำรงชีวิตอย่างครบวงจรที่เราได้พบเห็นมาเป็นบางส่วน ไว้โอกาสหน้า ปีหน้า ก็จะกลับไปเยือนและค้นหาธรรมชาติที่ยังตกสำรวจอยู่หลายแห่งที่จะกลับมาอีกครั้ง

1 ความคิดเห็น: