วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ชีวิตและสีสันธรรมชาติที่ทะเลน้อย



มุมภาพสวยๆ ของยอยักษ์บ้านปากประ

โดย....สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์



ทะเลบัวสาย


พัทลุง  อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เป็นเมืองแห่งขุนเขาที่เก่าแก่โบราณเมืองหนึ่งของภาคใต้ ตัวเมืองมีเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์สูงเด่นมองเห็นแต่ไกล และยังเป็นเมืองต้นกำเนิดหนังตะลุง-โนรา
เป็นแหล่งวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง ที่มีจุดเด่น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทะเลน้อยจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด จัดเป็น อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นแหล่งนกน้ำที่สมบูรณ์ และยังเป็นทะเลบัวที่สวยงามแห่งแรกๆ ของเมืองไทย 


ฝูงนกกุลาขาว 


เมื่อการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและรูปแบบที่เป็นระบบและชัดเจนมากขึ้น จังหวัดพัทลุงก็ได้ถูกจัดให้เมืองต้องห้ามพลาด+พลัส ขึ้นมา โดยมีการจับคู่กับเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นจังหวัดที่สามารถท่องเที่ยวเชื่อมต่อกันได้ จึงกลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นมากขึ้น



ทะเลบัวสาย คือ ภาพความงดงามของทะเลน้อย  


จังหวัดพัทลุงมีทะเลน้อย ที่มีชื่อเสียงมีช้านานแล้ว มีทะเลบัวเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้ชมหมู่นกน้ำหลากชนิด ชมเรื่องราวการทำประมงพื้นบ้าน วิถีการเลี้ยงควายน้ำ ชมภาพสวยงามอลังการตาของยอยักษ์บ้านปากประ รวมไปถึงผืนป่าอะเมซอนที่น่าทึ่งมากๆ



ควายน้ำ

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้ามาชมทะเลบัวสายแล้วยังมีโอกาสได้ชมหมู่นกน้ำจำนวนมากมาย เราอาจได้พบฝูงนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่เป็นจำพวกนกเป็ดผี เป็ดคับแค หรือเป็นจำพวกนกกาน้ำ นกกระสา นกกุลาขาว นกนางนวล นกตีนเทียน ที่มีพฤติกรรมรวมกลุ่มหากินเป็นฝูงใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังมีนกชนิดอื่นที่กระจายหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้






ฝูงนกกุลาขาว ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทะเลน้อย




นกนางนวล




นกตีนเทียน สามารถพบเห็นได้ทั่วทะเลน้อย



ความสวยงามที่ขึ้นชื่อของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ได้รับดูแลปกปักรัษาไว้ด้วยกฎหมายอนุรักษ์ โดยมีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จึงทำให้พื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ยังคงอยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิม จึงมีการจัดการด้านการอนุรักษ์ การท่องเที่ยว และการทำมาหากินของชาวบ้านที่มีอาชีพจับปลาเลี้ยงชีพ



ทะเลบัวสายสีแดง สามารถสัมผัสความงดงามของบัวสาย ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ของทุกปี ความสวยงามของทะเลบัวแห่งนี้เป็นเรื่องราวในระบบนิเวศของผืนป่าชุ่มน้ำ โดยเฉพาะเรื่องราวของนกน้ำ หมู่ปลา กระจูด ที่ต่อยอดสร้างอาชีพทำเครื่องจักสานให้กับชาวบ้านมานานแล้ว 




ต้นลำพูในห้วงผืนน้ำ กับมุมมองในช่วงยามพระอาทิตย์ขึ้น




ผลผลิตจากห้วงน้ำทะเลน้อย





การทอจูดในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอาชีพอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ทะเลน้อย



ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานที่ทำจากจูดที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ทะเลน้อย

นักท่องเที่ยวที่สนใจเที่ยวชมทะเลน้อย ก็สามารถใช้บริการเรื่องเที่ยวจากบ้านทะเลน้อย เพื่อออกไปชมผืนทะเลบัวโดยมีการคิดค่าบริการเหมาลำ แต่หากว่าต้องการจะชมหมู่นกกันให้จุใจ ต้องเป็นเที่ยวเรือพิเศษ ซึ่งคนขับเรือบางท่านที่ชำนาญเส้นทางและรู้จักแหล่งนก ก็จะพาเข้าไปตามคลองย่อย ควนขี้เสียน คลองนางเรียม แล้วออกมาทางสะพานข้ามทะเลน้อย ซึ่งจะเป็นจุดที่พบฝูงนกได้หลากชนิด โดยเฉพาะนกกุลาขาว  


ต้นลำพู



ยามรุ่งอรุณกับยอยักษ์ที่ปากประ


ฝูงควายน้ำ


ถนนสายทะลน้อย-ระโนด ที่ตัดยกระดับข้ามพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จะเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม


กลุ่มนกฝูงใหญ่ๆ ในเขตพื้นที่สะพาน ส่วนใหญ่จะเป็นนกเป็ดผี นกตีนเทียน นกกุลาขาว เป็นต้น แต่ถ้าเราไม่ได้มาทางเส้นทางเรือ ก็ขับรถมาชมบนสะพาน สามารถชมหมู่นกได้เช่นกัน และยังได้พบเห็นฝูงควายน้ำนับร้อยตัวที่ถูกปล่อยให้หากินตามทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดบนผืนป่าและผืนน้ำแห่งนี้




ฝูงควายที่ปล่อยหากินในทะเลน้อย จนได้เรียกว่าควายน้ำ

จากท้องทะเลสาปกว้างใหญ่ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่พัทลุง-สงขลา-นครศรีธรรมราช ชุมชนที่อยู่คู่ทะเลสาปก็ได้ใช้เส้นทางน้ำสัญจรไปมาหาสู่กัน จากบ้านทะเลน้อยไปยังอำเภอระโนด ด้งเดิมก็ใช้เส้นทางเรือ จนกระทั่งมีการตัดถนนยกระดับข้ามทะเลน้อยขึ้นมา จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมกับเรื่องราวธรรมขาติอีกมากมาย



  นอกเหนือจากทะเลน้อยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักแล้ว ยังมีพื้นใกล้เคียงที่มีศักยภาพในระบบนิเวศป่าชุ่มน้ำ อย่างเช่น ป่าอะเมซอน ซึ่งเป็นป่าเสม็ด พื้นล่างเป็นผืนน้ำ จะเข้าไปได้ต้องใช้เรือคายักพายเข้าไป ซึ่งต้องมีคนนำทางที่ชำนาญพื้นที่ เพราะป่าเสม็ดมีลักษณะเหมือนกันและซับซ้อน มีโอกาสหลงได้ง่าย
แหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ จนกลายเป็นมุมช่างภาพยอดนิยมนั่น คือ ยอยักษ์ที่บ้านปากประ จะเป็นยอยกปลาที่มีขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก ได้ปลูกสร้างไว้กลางน้ำปากคลองประ เพื่อยกยอจับปลา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในแถบนี้



ยอยักษ์ที่ปลูกสร้างเรียงรายที่ปากประ



มุมภาพสวยๆ ของยอยักษ์บ้านปากประ

ในช่วงยามเช้าจะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านออกเรือมาขึ้นไปบนยอ เพื่อยกยอจับปลา ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็ก นำไปทำเป็นปลาแห้ง ปลากรอบ เนื่องจากว่าบริเวณปากแม่น้ำใหญ่จะมีฝูงปลาเล็กจำนวนมากพาขึ้นมาตามกระแสน้ำขึ้น ชาวบ้านจึงดักจับปลากันทุกวัน และในช่วงยามเช้าตรู่ที่พระอาทิตย์สาดแสงสีทองออกมาอย่างงดงาม จึงเป็นลีลาธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนสวยงามอย่างต่อเนื่อง นักถ่ายภาพทั้งหลายจึงชื่นชอบมุมนี้กันแทบทุกคน




 
ทะเลน้อยจัดว่าเป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำที่มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งความงดงามของทะเลบัว หมู่นกน้ำ พร้อมภาพชีวิต รวมทั้งภาพทิวทัศน์ที่สวยงามลงตัวกับพื้นที่ป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ ซึ่งทุกวันนี้ธรรมชาติที่สวยงามได้เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว โดยต่อยอดให้ธุรกิจชุมชน เช่น การสานจูด ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ยกระดับฝีมือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพระดับประเทศ
โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับและสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของทะเลน้อย




ปลาจากทะเลน้อย นำมาแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง


นกอีโก้ง ดาราเด่นประจำทะเลน้อย



การเดินทาง

จากพัทลุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ขึ้นไปทาง .ควนขนุน ถึงบริเวณหลัก กม. ที่ 70 ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 19 กม. แล้วมีทางแยกไปทะเลน้อย ตามเส้นทางหมายเลข 4187  จากปากทางไปบ้านทะเลน้อยระยะทาง 18 กม. จะถึงที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย หรืออุทยานนกน้ำทะเลน้อย 


โรงแรมที่พัก
-เวทแลนด์แคมป์ โทร.086-953-9914



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น