วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

ภูหลวง : ลมหายใจธรรมชาติที่ยังเป็นอยู่

ภูหลวง : ลมหายใจธรรมชาติที่ยังเป็นอยู่

โดย......สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์


ภูหลวง เป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับฉายานามว่า มรกตแห่งอีสาน ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเลย มีภูเขาลูกใหญ่ตั้งตระหง่านซ้อนอยู่กลางที่ราบยอดตัดอีกสองลูกคือ ภูยองภู (1,562 เมตรจากระดับน้ำทะเล) กับภูขวาง (1,571 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ลักษณะภูมิประเทศของภูหลวง เชื่อว่าเกิดจากการยกตัวจากแรงดันของพื้นโลกทำให้หินทรายส่วนนี้ดันสูงขึ้นมาเหนือพื้นราบเช่นเดียวกับภูกระดึง


ทุ่งเปราะภูที่งดงามในช่วงฤดูฝนในป่าภูหลวง

มีพื้นที่ราบที่อยู่บนยอดเขาหินทราย ที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า 140 ตารางกิโลเมตร หรือกว้างใหญ่กว่าพื้นที่ราบยอดตัดของภูกระดึงยอดนิยมเกือบสามเท่า และที่สำคัญก็คือบนพื้นที่ราบยอดตัดของภูหลวงมีสายน้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำเลยไหลตัดผ่านจนกลายเป็นร่องหุบ



รุ่งอรุณในป่าสนบนภูหลวง

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ลานหิน หน้าผา ร่องหุบต้นน้ำและขุนเขาที่รวมกันอยู่บนที่ราบบนยอดเขา มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายของพฤกษศาสตร์ ฤดูกาลตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงทำให้เราได้ค้นพบเรื่องราวของหมู่พรรณไม้ในผืนป่าภูหลวงจำนวนมากมาย


รองเท้านารีอินทนนท์ช่องาม


เอื้องเงิน กำลังบานสะพรั่งในช่วงหน้าฝน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เข้มข้น เป็นพื้นที่ป่าปิดมาช้านาน จนกระทั่งได้มีการเปิดให้ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในบางส่วน อย่างเช่นพื้นที่หน่วยโคกนกกระบา เป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยแหล่งพันธุ์ไม้นานาชนิด


 ลำธารกลางป่าภูหลวงมักพบลวดลายฟองน้ำที่เกิดในช่วงหน้าฝน

ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้ในช่วงเดือนตุลาคม จนถึงเดือนมีนาคม   จากนั้นก็ปิดเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินทางไปแบบพักค้างแรมกับไม่พักค้างแรมก็จะสะดวกเช่นกัน โดยติดต่อที่ศูนย์บริการด้านล่าง


สิงโตปากนกแก้ว ผลิบานเต็มต้นในช่วงต้นฤดูฝน

ในบริเวณหน่วยโคกนกกระบา จะเป็นศูนย์รวมของสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพักรับรอง มีเจ้าหน้าที่บริการ และจะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นเส้นทางผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ  ผาเตลิ่น และเส้นทางลานสุริยันต์ โคกกระบา ที่ถือว่าเป็นแหล่งพันธุ์ กล้วยไม้ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของผืนป่าภูหลวง


เมื่อฤดูกาลผ่านไป สีแสงธรรมชาติป่าภูหลวงก็เปลี่ยนไป

ในเส้นทางไปยัง ผาเตลิ่น เราควรเริ่มจากช่วงเวลาเช้าตรู่ ด้วยการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาช้างผ่านหรือผาสมเด็จ  ต่อมาก็เดินเท้าไปยังผาเตลิ่นที่ระหว่างทางเราจะพบกับทุ่งกุหลาบขาวที่ผลิบานสะพรั่งอยู่ทั่วลานภู และยังกล้วยไม้ที่น่าสนใจในช่วงแล้ง อย่างเช่น ครั่งแสด เอื้องตาเหิร ขึ้นอยู่ตามพุ่มไม้อยู่ด้วย
จนกระทั่งถึงผาเตลิ่นเราจะพบกับสีสันธรรมชาติที่จัดจ้านอย่างดอกกุหลาบแดงที่ผลิบานเป็นพุ่มเป็นกอใหญ่อยู่ริมหน้าผา มีมุมมองที่สวยงามและลงตัวกับธรรมชาติมากที่สุด 


เมื่อหมดหน้าหนาว ย่างเข้าหน้าร้อน ดอกกุกลาบพันปีจะผลิบานอยู่ทั่วโคกนกกระบา

ขากลับเราจะแวะเที่ยวชมร่องรอยไดโนเสาร์ที่ปรากฏอยู่บนลานหินทรายเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ปรากฏอย่างชัดเจนอยู่กือบสิบรอยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นป่าภูหลวงในยุคหลายล้านมานั้นก็ยังเป็นถิ่นของสัตว์ดึกดำบรรพ์อยู่ด้วย

แหล่งพันธุ์ประเภทกล้วยไม้ป่าที่น่าสนใจของป่าภูหลวงที่เราสามารถพบเห็นได้ในบริเวณหน่วยโคกนกกระบา ก็มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณหน่วย เราสามารถพบเห็นกุหลาบแดง รองเท้านารีอินทนนท์ เอื้องสำเภางาม สิงโตสยาม เอื้องตาเหิร และอีกหลากหลายชนิดที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างไว้ตามช่วงฤดูกาลตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ




เอื้องน้ำต้น


เอื้องสำเภางาม

และยังมีในเส้นทางศึกษาธรรมชาติสู่ลานสุริยันต์ที่เป็นศูนย์รวมกล้วยไม้ตามป่าหินป่าแคระที่เราจะพบกับเอื้องตาเหิรเป็นจำนวนมาก ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ โชยมาตามสายลม มีเอื้องสำเภางาม กระเจี้ยง เอื้องขยุกขยุย เอื้องพลายงาม สิงโตใบพาย ครั่งแสด  เป็นต้น นอกจากนี้ยังฟองหิน ข้าวตอกฤาษี มีดอกหรีด และหมู่พันธุ์ไม้อื่นๆ อีกมาก


พืชกินแมลงจำพวกหยาดน้ำค้าง

ในยามหน้าหนาวหน้าร้อนจะพบกล้วยไม้หลากชนิดผลิดอกบานไปทั่วป่า โดยเฉพาะกุหลาบแดง กับ กุหลาบขาว ขึ้นอย่างแน่นหนาตา และยังมีพวงไข่มุก หรือส้มแปะ” ,ครั่งแสด, เอื้องตาเหิร, เอื้องมอนไข่,    เอื้องคำ และยังมีกล้วยไม้สกุลสิงโตอีกหลายชนิดด้วย


เอื้องครั่งแสด สัญลักษณ์ของกล้วยไม้หน้าร้อน


 สิงโตขยุกขยุย บานในช่วงหน้าแล้ง


 เอื้องมัจฉานุ



เอื้องตาเหิร



เอื้องมอนไข่


เอื้องอัญมณี

ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ไม้หรือกล้วยไม้ของป่าภูหลวง จะพบเห็นได้ได้เยอะในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน


นอกจากนี้ยังมีเส้นทางระยะไกลจากโคกกระบาไปหน่วยโหล่นแต้ จะพบป่าสน กล้วยไม้ และหน้าผาชมวิวด้านตะวันออกที่สวยงามมากๆ ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไปทุกครั้งด้วย



ทิวทัศน์ในยามเช้าที่ผาโหล่นแต้

ส่วนช่วงฤดูฝนจะพบว่ากล้วยไม้ไม่กี่ชนิดที่ผลิบานอยู่ในช่วงผืนป่าฉ่ำฝน จะพบว่าสิงโตปากนกแก้วจะสวยงามเต็มต้น เอื้องเงินที่คล้ายกับเอื้องแซะภู กำลังผลิดอกบานกระจายทั่วป่าภูหลวง และมีงดงามโดดเด่นมากๆ นั่น คือ เปราะภูสีชมพู ซึ่งพบว่าเปราะภูสีชมพูนี้จะมีที่ป่าภูหลวงเพียงแห่งเดียว และมีปริมาณที่เยอะมาก ในบริเวณโคกนกระบาก็มีกระจายไปทั่ว หากไปทางด้านโซนป่าสนแปกดำก็มีกระจายไปทั่ว
เปราะภูสีชมพูของผืนป่าภูหลวง เรายังเคยเดินป่าในเส้นด้านอื่น


ทุ่งหญ้า ป่าสนที่โหล่นแต้

ในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคม ได้พบเห็นความอลังการตาของทุ่งเปราะภูที่ขึ้นอยู่ตามโคกตามพลาญกลางป่าสน อย่างเช่น โคกยาว โหล่นโกนกะลา ป่าขุนน้ำเลย ที่อยู่ลึกเข้าไปจากเส้นทางท่องเที่ยวปกติ และเป็นเส้นทางที่ยังไม่เปิดให้ท่องเที่ยว



มุมมองศิลปะบนสายน้ำที่ให้ความแตกในสองมิติ

 ศิลปะสายน้ำหมุนวน


ศิลปะสายน้ำหมุน ด้วยการถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ

นอกจากนี้แล้ว ในช่วงยามหน้าฝน ผืนป่าภูหลวงเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำ สายน้ำสีชา หรือสีน้ำน้ำตาลไหลผ่าชั้นหินทรายซอกเซอะตามแนวไปตามร่องห้วย บางแห่งเราก็ได้พบเห็นฟองน้ำลอยตามผิวน้ำจะเกิดเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์ จึงเกิดเป็นมุมมองความงดงาม เป็นลักษณะน้ำหมุนวน เพียงแค่เรามีอุปกรณ์ถ่ายภาพ ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ ก็สามารถถ่ายภาพสายน้ำด้วยความชัตเตอร์ต่ำได้ ยิ่งมีฟิลเตอร์ ND เพื่อลดแสงก็ยิ่งได้สายน้ำที่อ่อนนุ่มสวยฟรุ้งฟริ้งมากมาย



ทุ่งเปราะภูสีชมพู พบในผืนป่าป่าภูหลวงเพียงแห่งเดียว

ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพกล้วยไม้ที่ป่าแห่งนี้ เราควรมีเลนส์ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น เลนส์มาโครขนาดมาตรฐานทั่วไป เช่น มาโคร 60 มม., 100 มม, หรือ 105 มม. ถ้าหากมี Tube ก็ยิ่งดี และควรมีเลนส์ยาวช่วง 80-200 มม. สำหรับถ่ายภาพกล้วยไม้ดอกไม้ที่อยู่ตามคบกิ่งไม้ ไม่ควรปีนป่ายขึ้นไปถ่าย
ส่วนเลนส์ไวด์มุมกว้างขนาด 16-35 มม. สำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพป่ากว้างๆ หรือสายน้ำลำธาร



หยาดหยดน้ำจากต้นหญ้าน้ำค้าง หรือปัดน้ำ ซึ่งเป็นพืชกินแมลงอีกชนิดหนึ่ง


หญ้าไฟตะกาด ต้องใช้กำลังเลนส์มามาโครกันสุดๆ

ข้อควรระวังการในการถ่ายภาพกล้วยที่เรามักเจออยู่เสมอ คือ ความปรารถนาที่ต้องการภาพเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นตั้งใจมากๆ จนลืมอะไรหลายๆ อย่างในสภาพแวดล้อม เช่นต้องการดอกไม้อยู่ข้างหน้า เดินเข้าไปยืนถ่าย กลับไปเหยียบย่ำกล้วยไม้ต้นไม้ชนิดอื่น หรือย่ำฟองหินไลเค่น จนราบเป็นหน้ากลองไปเลย…..ครับ ต้องระวัง และใส่ใจกันมากๆ ครับ


ป่าหน้าฝนบนภูหลวง

ด้วยจิตสำนึกการท่องเที่ยวถ่ายภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกดอกไม้กล้วยไม้ที่ถือว่าเป็นสิ่งเปราะบาางในธรรมชาติ เราจึงตระหนักอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไร จะถ่ายภาพอย่างไรที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด หากทุกคนมีจิตสำนึกเหล่านี้ช่วยกันดูแลรักษาความงดงามที่เปราะบางของดอกไม้เหล่านี้ได้ ก็ถือว่าได้กันประคับประคองให้ธรรมชาติได้คงอยู่ต่อไปอีกนาน


ไก่ฟ้าหลังขาว

การติดต่อ โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โคกนกกระบา 085 272 5946

3 ความคิดเห็น:

  1. โหล่นแต้ คล้ายๆกับภูสอยดาวเหมือนกันนะคะพี่

    ตอบลบ
  2. โหล่นแต้ ....เดิมทางองค์​การบริหารส่วนจังหวัดเลย ได้เปิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวคล้ายกับภูกระดึง มีเส้นทางขึ้นลงที่ อ.วังสะพุง ต่อมาได้มีการปิดตัวลง กลายเป็นตำนานที่นักท่องเที่ยวรุ่นเก่าบางท่าน คงจำกันได้ดี.....ต่อมาทางเขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวง ได้เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่หน่วยโคกนกกระบา ส่วนเส้นทางไปโหล่นแต้ ต้องเดินป่าอีกประมาณเกือบวัน ทางราบๆ แต่เมื่อยขามาก

    ตอบลบ